“เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลือกปฏิบัติ ต่อกรณีธนาธร หรือไม่

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. เปิดเผยว่า จากการติดตามกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูก กกต.ตั้งข้อกล่าวหาว่าถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เข้าข่ายต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่ห้ามมิให้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ นั้น ตามมาตรา 98 (3) มีทั้งการเป็นเจ้าของและการเป็นผู้ถือหุ้น

ซึ่งคำว่าเจ้าของกับผู้ถือหุ้นกฎหมายมุ่งประสงค์ให้มีนัยแตกต่างกัน และคำว่าหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนใดๆ ก็มีความหมายต่างกัน หนังสือพิมพ์เป็นคำเฉพาะ แต่สื่อมวลชนใดๆ เป็นคำทั่วไป ที่มีความหมายกว้างมาก เช่น วิทยุ วิทยุโทรทัศน์ วิทยุชุมชน เว็บไซต์ ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม เว็บไซต์ สื่อออนไลน์อื่น วารสารหรือการรับพิมพ์วารสาร ก็ควรอยู่ในความหมายด้วย

จากการตรวจสอบคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง พบว่า กกต.เคยยื่นคำร้องหรือถูกร้องคัดค้านมาแล้วอย่างน้อย 11 คดี ที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยความหมายของคำว่าเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ ไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว ดังนั้นการที่ กกต.ตั้งข้อกล่าวหานายธนาธร จึงอาจเป็นไปตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า เรื่องนี้หลายฝ่ายวิจารณ์ไปต่าง ๆ นานา โดยไม่ได้ศึกษาแนวคำพิพากษา ทั้งที่ศาลฎีกามีคำสั่งไปหลายคดีแล้ว หรือกระทั่งการถือหุ้นสัมปทานเพียงหุ้นเดียว ก็ผิดตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้

ดังนั้นต้นเหตุจึงน่าจะมาจากการที่รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ที่บัญญัติไว้กว้างเกินไป และจะมีผลให้มีคนกระทำการฝ่าฝืนมาตรานี้ตามมาอีกมากมาย แต่มีอยู่กรณีหนึ่งที่มีความปรากฏต่อ กกต.แล้ว แต่ กกต.กลับไม่วินิจฉัย

คือกรณีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ โดย กกต.สรุปความเห็นไว้ในลักษณะตัดสินแทนศาลว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เปิดช่องทางการสื่อสารกับสาธารณชนในรูปแบบเพจเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม (ไอจี) ทวิตเตอร์ รวมถึงเว็บไซต์ส่วนตัว ซึ่งยังไม่อาจถือได้ว่าเข้าข่ายการเป็นเจ้าของกิจการ

การสรุปดังกล่าวจึงเหมือนกับการเลือกปฏิบัติ ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกับทุกกรณี หากเป็นเช่นนี้เฉพาะกรณีของพล.อ.ประยุทธ์กับของนายธนาธร อาจถูกสังคมตั้งคำถามว่า “นายกฯ เป็นเจ้าของสื่อไม่ผิด แต่ธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นสื่อกลับผิด”

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า การกระทำของ กกต.ต่อกรณีของพล.อ.ประยุทธ์ กับ ของนายธนาธร จึงอยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ที่จะตรวจสอบได้ว่าการไม่วินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ และไม่ตั้งข้อกล่าวหานั้น แต่ต่อมากลับตั้งข้อกล่าวหากรณีนายธนาธร

การกระทำของ กกต.จะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ และการกระทำของ กกต.ดังกล่าวจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ในวันที่ 29 เม.ย. เวลา 10.30 น. ตนจะไปยื่นหนังสือเพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบการกะทำของ กกต. ต่อไปโดยเร็ว


ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน