ภูมิใจไทย โชว์แนวคิด เปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ทุกคน มีความคิดสร้างสรรค์-ไม่จำกัดกรอบ เล็งผลักดันสู่ระดับโลก ชี้ต้องไม่กดดัน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 31 มี.ค.2566 ที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือมติชน ประกอบด้วย มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ มติชนทีวี และมติชนสุดสัปดาห์ จับมืออีก 5 พันธมิตร ได้แก่ ทีดีอาร์ไอ, สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย, วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์, MFEC และศูนย์ข้อมูลมติชน เปิด “5 เวที 10 ยุทธศาสตร์ 2 กลยุทธ์”

โดยในเวทีที่ 3 “ฟังเสียง New gen บทใหม่ประเทศไทย” บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีตัวแทนนักการเมืองรุ่นใหม่ จาก 9 พรรคการเมืองร่วมขึ้นเวทีประชัน

ในรอบที่สอง ช่วงแบทเทิล คำถามที่ 5 นักการเมืองรุ่นใหม่มีแนวทางการปฏิบัติที่จะจัดการอย่างไรกับเรื่อเสรีภาพในการแสดงความคดิเห็น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม ประชาชนทั่วไป การคอมเมนต์บนโซเชียลฯ หรือแม้กระทั่งการทำภาพยนตร์ ซีรีย์ ที่ถูกจำกัด จะแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง

น.ส.อิสราพร บูรณอรรจน์ (อุ้ม) ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เสรีภาพในการพูดคือการทำศิลปะในการทำภาพยนตร์ ดนตรี อย่างอิสระเสรี เห็นด้วยเรื่องของความเหมาะสมในเมื่อความเหมาะสม ไม่ได้มีคำจำกัดความว่าอะไรดีอะไรไม่ดี บางอย่างก็เทาๆ เราไม่มีสิทธิไปกำหนด ตนคิดว่าสื่อบันเทิง หรือการพูดที่ไม่เหมาะสมควรเป็นแค่การกำหนดว่าสื่อประเภทนี้เหมากับอายุเท่าไหร่ก็พอ

ส่วนเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ ตนมองว่าการที่จะไปดูเรื่องของปลายทางจะผลักดันอย่างไร ความคิดสร้างสรรค์อย่างไรให้ไประดับโลก เราต้องกลับมาดูที่มูลค่า และความคิดสร้างสรรค์ต้องเกิดจากการไม่กดดัน ซึ่งวันนี้เราอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสังคมและสภาพแวดล้อมที่จำกัดมาก จะออกไปไหนก็ไม่ได้เพราะฝุ่นเต็มท้องฟ้า ซึ่งนโยบายของภูมิใจไทยทุกชุดเราต้องการเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ทุกคนได้มีความคิดสร้างสรรค์ มีพื้นที่ในการแสดงออก

น.ส.อิสราพร กล่าวต่อว่า อีกประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของ ตะวันและแบม ซึ่งเป็นหนึ่งในการแสดงออก ซึ่งมีการประกันตัวมาสู้โดยที่ยังไม่มีการตัดสิน เขาก็มีสิทธิที่จะออกมาได้ ดังนั้นนโยบายของภูมิใจไทย ที่ได้ผลักดันไปแล้วทุกชุดล้วนแล้วแต่ตอบสนองความคิดสร้างสรรค์และการไม่จำกัดกรอบ
อย่างไรก็ตามคำถามนี้ไม่มีใครมาแบทเทิลด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน