เยาวชนปาตานีปลื้ม ‘วันนอร์’ ร่วมกิจกรรม ‘มลายูรายอ’ รวมพลคนแต่งกายชุดมลายูหลายหมื่นคน

วันที่ 25 เม.ย.66 ที่หาดวาสุกรี อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เต็มไปด้วยกลุ่มเยาวชนหรือที่เรียกว่า ‘ปือมูดอ’ หลายหมื่นคน ร่วมกันแต่งกายด้วยชุดมลายูหลากสีสัน เพื่อร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมการแต่งกายตามวัฒนธรรมมลายูในวันฮารีรายออิดิ้ลฟิตรี จัดขึ้นโดยสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ หรือ CAP และเครือข่าย โดยมีกลุ่มเยาวชนจากทุกหมู่บ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมกิจกรรมกันอย่างคับคั่ง

โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้มาร่วมงานด้วย โดยแต่งกายด้วยชุดเดินทางมาพร้อมด้วยว่าที่ร้อยตรี โมฮัมหมัดยาสรี ยูซง ผู้สมัคร ส.ส.ปัตตานี เขต 5 , นายมูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ และผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดอื่นๆ มาร่วมด้วยอย่างคับคั่ง

ภายในงานมีการแสดงการขับร้องเพลงมลายู และศิลปะการแสดงจาก ผศ.เจ๊ะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ที่สื่อสารถึงเรื่องราวชีวิตของคนมลายู ที่ถูกมัดด้วยผ้าลือปัสบนท่อนไม้ที่ถูกเลื่อยจนขาด สะท้อนว่าเป็นสิ่งที่กำลังตัดทอนหายไปเรื่อยๆหากไม่รักษาไว้ เช่นเดียวกับความเป็นมลายูที่เป็นลมหายใจของประชาชน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า “เห็นว่ากิจกรรมการรวมตัวแต่งกายชุดมลายูเป็นกิจกรรมที่ดีเพราะจะเป็นการรักษาวัฒนธรรมมลายู ซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าที่ปู่ย่าตายายได้ทิ้งไว้ให้พวกเรา การที่คนหนุ่มสาวปือมูดอ เต็มใจที่จะแต่งกายชุดมลายูในวันฮารีรายอเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง พรรคประชาชาติช่างเป็นพรรคพหุวัฒนธรรมเราเห็นว่า ในประเทศมีหลายเชื้อชาติหลายวัฒนธรรม ตามรัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว ก็ภูมิใจที่วันนี้รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวได้แสดงออกซึ่งวัฒนธรรมของตนเอง พรรคประชาชาติเราพร้อมสนับสนุนและยินดีมาร่วม ไม่ว่าวัฒนธรรมใดเราก็ยินดีจะไปร่วม ส่วนประเด็นที่ฝ่ายความมั่นคงเรียกตัวผู้จัดงานไปเมื่อปีที่แล้วนั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นความหวัดระแวงและเป็นความเข้าใจผิดของฝ่ายความมั่นคงเองความจริงก็ไม่มีอะไร และวันนี้ฝ่ายความมั่นคงเองก็เข้าใจแหละว่าการแสดงออกทางวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม เป็นการส่งเสริมทั้งวัฒนธรรม ความรัก ความสามัคคี แทนที่หนุ่มสาวจะไปเที่ยวกันในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม แต่วันนี้พวกเขาได้มาแสดงออกถึงความสมัครสมานกัน เป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม และตลอดเดือนที่ผ่านมาก็ได้ถือศีลอดในตอนกลางวัน ส่วนตอนกลางคืนพวกเขาได้รวมตัวกันสร้างประตูชัยหรือปินตูกืรบัง ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่พรรคประชาชาติเห็นว่าฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลควรจะให้การส่งเสริมการแต่งกาย และวัฒนธรรมการทำซุ้มประตู”

นายมูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ รองโฆษกพรรคประชาชาติ อธิบายถึงลักษณะของการแต่งกายด้วยชุดมลายูว่า สำหรับผู้ชาย คือสวมเสื้อเชิ๊ตแขนยาว มีกระดุม 5 เม็ด กางเกงขายาว หมวกซอเก๊าะสีดำ และมีผ้าคาดเอวหรือเรียกว่าซอแก๊ะ บางคนเหน็บกริชด้วย อันเป็นสัญลักษณ์ของบุรุษมลายู โดยปีนี้ เยาวชนมีการนัดแนะสวมชุดสีเดียวกันทั้งจังหวัด เช่นนราธิวาสสีแดง ปัตตานีสีน้ำเงิน และยะลาสีเขียว แสดงถึงความสมัครสมานสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้หญิงมีชุดกูรง ชุดบานง เป็นเสื้อแขนยาวและปลายยาวถึงเข่า กระโปรงยาว มีหลายดอกสวยงาม สวมฮิญาบ ปกปิดมิดชิด ซึ่งการแต่งกายด้วยชุดมลายูในวันฮารีรายอนอกจากจะได้ผลในทางวัฒนธรรมแล้ว ยังได้ผลในทางเศรษฐกิจด้วย ปัจจุบันมีร้านจำหน่ายชุดมลายูยี่ห้อต่างๆมากมาย โดยส่วนใหญ่เป็นร้านของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ที่เปิดร้านจำหน่าย และก่อให้เกิดรายได้แก่ช่างตัดเย็บจำนวนมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน