กระสือสยาม : คอลัมน์หนังเด่น

โดย กฤษดา

กระสือสยาม เป็นอีกความพยายามที่จะทำให้กระสือมีความแตกต่างไปจากที่เคยรับรู้

ความพยายามที่พอจะมองเห็นได้มีอย่างน้อย 5 อย่าง

1. สร้างเรื่องราวของกระสือให้เกิดขึ้นในสังคมร่วมสมัย ไม่ใช่อดีต ข้อนี้แม้ไม่ระบุสมัยชัดเจน แต่การมีโทรศัพท์มือถือช่วยยืนยันว่าเป็นยุคปัจจุบัน

2. เรื่องราวเกิดขึ้นในเมือง ไม่ใช่ชนบท ข้อนี้เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นสังคมเมือง เช่น อาคารที่มีลิฟต์ และโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ในข้อนี้พบว่ามีแต่บรรยากาศเมืองที่ล้อมรอบ โดยมีสถานที่ที่เข้าใจว่าเป็นกลางเมืองคล้ายสยามสแควร์ แต่แทบไม่มีภาพผู้คนในเมือง หรือความเป็นสังคมของเมือง

3. จากข้อ 2 หมายความว่า กระสือ ในเรื่องนี้ไม่มีการนำเสนอ คู่ขัดแย้งระหว่าง กระสือกับสังคม (ซึ่งกระสือที่เคยรับรู้นั้นเป็นเรื่องของการที่สังคมหรือชุมชน เกลียด กลัว และต่อต้านการเป็นกระสือ)

4. มีการสร้างเรื่องราวให้เป็นแบบหนังวัยรุ่นผสมผีกระสือ เช่น กระสือต้องไปโรงเรียน เรียนวิชาวิทยาศาสตร์

5. มีการสร้างตัวละครเอกให้เป็นนักเรียนวัยรุ่นที่มีวิชาอาคม (หรือเรียกได้ว่าเป็นนักปราบผี) ผู้มีทั้งคาถาและอาวุธ สามารถกล่าวได้ว่า ความพยายามที่จะสร้างเรื่องให้แตกต่างตามที่กล่าวไปเป็นความคิดริเริ่ม

แต่คงต้องยอมรับว่า บางข้ออาจถูกมองว่าเป็นการผสมสูตรแบบที่เคยมีคนทำมาแล้ว นั่นคือหนังรักวัยรุ่นผสมแวมไพร์ ซึ่งผมไม่ถือว่าเป็นปัญหา

ปัญหาสำคัญของหนังเรื่องนี้เป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากข้อ 3

การเลือกที่จะไม่นำเสนอคู่ขัดแย้งระหว่างกระสือกับสังคมหรือชุมชน ทำให้ต้องไปนำเสนอคู่ขัดแย้งอื่น

คู่ขัดแย้งในเรื่องนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายกระสือและผู้ปกป้อง กับฝ่ายกระสือผู้คุกคามด้วยความแค้น

เมื่อคู่ขัดแย้งเป็นเช่นนี้ ฉากช่วงไคลแม็กซ์จึงเป็นฉากการต่อสู้ของฝ่ายผู้ปกป้องกับกระสือผู้คุกคาม และระหว่างกระสือกับกระสือ

คู่แรกอาจจะพอดูได้ แต่กระสือสู้กันนั้นยากที่จะทำให้ดีได้ทั้งในแง่ความตื่นเต้น การดึงอารมณ์ร่วม และความพอใจทางสายตา

ในแง่ความเป็นหนังสยองขวัญ หลายฉากทำได้น่ากลัวและสยอง แต่มีบางฉากออกไปทางน่าเกลียดมากกว่า

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน