1917

คอลัมน์ หนังเด่น

โดย…กฤษฎา

1917

1917 ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาหนังยอดเยี่ยม (ประเภทดราม่า) และผู้กำกับฯ ยอดเยี่ยม และได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ 10 สาขารางวัล ได้แก่ หนังยอดเยี่ยม ผู้กำกับฯ บทภาพยนตร์ กำกับภาพ ออกแบบงานสร้าง ดนตรีประกอบ แต่งหน้าและทำผม ตัดต่อเสียง ผสมเสียง และสร้างภาพพิเศษ

1917

นอกเหนือจากรางวัลและการได้ชิงรางวัลตามที่ได้กล่าวไป อีกส่วนที่เป็น “วาระสำคัญ” ของการกล่าวถึง 1917 ก็คือ ความโดดเด่นในด้านเทคนิคการถ่ายทำ

ได้รับรู้มาบ้างว่าเป็นหนังที่เน้นการถ่ายทำแบบต่อเนื่องโดยไม่มีการหยุดหรือตัดภาพ (อย่างที่เรียกว่า “ลองเทก”) แต่ภาพของการถ่ายทำนั้นก็ยังไม่แจ่มชัดนักว่าถ่ายลองเทก ทั้งเรื่อง (1 ช็อต) หรือมีหลายลองเทก (หลายช็อต)

1917 1917

การได้รับรู้มาเช่นนั้น ทำให้ผมตั้งใจดูเป็นพิเศษแบบแทบไม่กะพริบตา เพื่อรอดูว่าจะมีการหยุดถ่ายภาพ หรือตัดภาพตรงไหน และจะเห็นรอยต่อของภาพหรือไม่ ถ้ามีลองเทกหลายครั้ง

เมื่อได้เห็นภาพแรกจนถึงหลายฉากต่อมา แน่นอนว่าเป็นการถ่ายช็อตยาวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็พอมองเห็นว่ามีบางช่วงน่าจะมีการหยุดถ่าย หรือมีการตัดภาพ

บางช่วงบางช็อตนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีการหยุดถ่าย หรือไม่มีการตัดภาพ

นอกจากนั้น การระบุชื่อคนตัดต่อในเครดิตท้ายก็ยืนยันว่ามีการตัดต่อ ซึ่งก็คือมีหลายช็อต

1917 1917

อย่างไรก็ตาม หลายช็อตนั้นถูกสร้างออกมาให้เห็นราวกับว่าเป็นช็อตเดียว และนับว่าเป็นหนังที่บรรจุการถ่ายลองเทก มากที่สุดเรื่องหนึ่ง หรือกล่าวอีกอย่างว่าเป็นหนังที่มีจำนวนช็อตเพียงไม่กี่ช็อต (หนังสงครามแบบนี้ถ้าถ่ายทำปกติอาจถึง 1,000 ช็อตได้ไม่ยาก)

และที่มิอาจมองข้ามก็คือ หลายช็อต เป็นช็อตมหัศจรรย์ที่น่านำไปเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับเทคนิคและอุปกรณ์การถ่ายทำ

อุปกรณ์หลักที่ใช้น่าจะเป็นกล้องติดตัวคนถ่าย (สเตดดิแคม) แต่บางช็อตคาดว่าจะมีอุปกรณ์อื่นเสริม

แน่นอนว่า เทคนิคถูกนำมาใช้เพื่อรองรับเนื้อหา แต่กรณีหนังเรื่องนี้ บางทีเทคนิคอาจโดดเด่นจนบดบังเนื้อหาได้เลย

1917

ในด้านเนื้อหา นี่คือหนังที่นำคนดูเข้าไปจนแทบได้กลิ่นโคลนในสนามเพลาะในสงครามโลกครั้งที่ 1 และราวๆ ครึ่งเรื่องราวกับเป็นการพาทัวร์สนามเพลาะ

1917 เป็นหนังสงครามที่เต็มเปี่ยมด้วยความคิดริเริ่มและที่สุดของงานฝีมือ แต่ความโดดเด่นด้านเทคนิคก็ไปลดทอนน้ำหนักเนื้อหาของหนังอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน