“กฤษดา”

บางคนอาจทราบว่าก่อนหน้า Coco มีหนังสั้นเรื่อง Olaf”s Frozen Adventure ฉายให้ดูก่อน

ผมไม่ทราบมาก่อน ได้แต่สงสัยว่าทำไมต้องใช้ Coco-Olaf เป็นชื่อในโปรแกรมฉาย เมื่อได้ดูหนังจึงพอจะคาดคะเนได้ว่าที่กำลังดูอยู่น่าจะเป็น Olaf

เข้าใจว่าน่าจะเป็นนโยบายของดิสนีย์ ซึ่งเคยใช้วิธีการนี้แล้วประสบความสำเร็จ แต่น่าจะใช้ไม่ได้กับกรณี Olaf (ที่ตามมาด้วย Coco)

ปัญหาใหญ่ก็คือ ผมรู้สึกว่าเมื่อไหร่จะได้ดู Coco เสียที

บอกตามตรง ถ้าถามความเห็น ผมจะตอบอย่างไม่ลังเลใจเลยว่า ตัดออกไปดีกว่าถ้าทำได้

แต่ที่ทำให้การดู Olaf ไม่แย่จนเกินเหตุไปนัก ก็คือหนังที่ฉายต่อมานั้น ทำให้ลืมช่วงเวลาที่ไม่ดีในตอนแรกไปจนหมดสิ้น

หลายคนอาจชื่นชมบทเพลงไพเราะมากมาย แต่ผมมองว่าเพลงและดนตรีเป็นส่วนสำคัญก็จริง และไพเราะจริงๆ รวมถึงมีบทบาทในการเล่าเรื่อง และสื่อความหมายตามแบบหนังเพลง แต่ยังมีส่วนอื่นที่น่ากล่าวถึง

ส่วนแรกที่เห็นได้ง่ายที่สุดได้แก่การออกแบบฉากและสถานที่ โดยเฉพาะฉากสุสาน และเมืองคนตาย

ในขณะที่การออกแบบบ้าน เสื้อผ้า และสิ่งของต่างๆ เช่น ดอกไม้ ทำให้หนังดูมีสีสัน และเต็มไปด้วยชีวิตชีวา

ต่อมาเป็นการสร้างเรื่องราวที่อยากจะใช้คำว่าจับใจ ซึ่งแน่นอนว่าหลายฉากต้องอาศัยงานฝีมือ และการกำหนดจังหวะที่พอดี ซึ่งออกมาดีทั้ง 2 อย่าง

ฉากที่น่าจดจำก็คือ ฉากร้องเพลงให้ลูกสาว และร้องเพลงให้ย่าทวด

ในขณะเดียวกัน ก็มีการสร้างเรื่องให้พลิกผัน ซึ่งทำให้เกิดเรื่องราวและตัวละครที่น่าติดตาม

อีกส่วนเป็นเรื่องของจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เช่น ฉากคนตายต้องผ่านด่านตรวจคน เข้า-ออก จากเมืองไปหาญาติ รวมถึงจินตนาการเกี่ยวกับบรรยากาศบ้านเมืองคนตาย

และคงต้องไม่ละเลยที่จะกล่าวถึงการสอดแทรกอารมณ์ขันที่ พอเหมาะ

และสุดท้าย เป็นด้านงานฝีมือที่ทำให้งานออกแบบ และจินตนาการที่กล่าวไปข้างต้นออกมาสมบูรณ์

มีหนังไม่กี่เรื่องที่เป็นงานอันอุดมด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นงานชั้นดี และมีความสนุกสนานที่สุด ซึ่ง Coco เป็น 1 ในจำนวนนั้น

“กฤษดา” ให้สี่ดาว “วันอลวน วิญญาณอลเวง COCO”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน