มะเดี่ยว ชูเกียรติ ขอเป็นกระบอกเสียงคนเบื้องหลัง ถูกกดขี่ วอนรัฐออกกม.คุ้มครอง เคลียร์ปมดาราดังเรื่องเยอะ-นักร้องเรียกค่าตัว 1 ล้าน

ออกมาเป็นกระบอกเสียงให้กับคนทำงานเบื้องหลัง สำหรับผู้กำกับฯ ชื่อดัง มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล หลังโพสต์ข้อความสะท้อนระบบการทำงานในวงการบันเทิง ซึ่งคนเบื้องหลังถูกเอารัดเอาเปรียบไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียม การทำงานหนักเกินเวลา รวมถึงเรื่องได้ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังเจอคนเบื้องหน้า ดาราคนมีชื่อเสียง ทำตัวไม่น่ารักใส่ จนกลายเป็นกระแสฮือฮาในโลกออนไลน์ก่อนหน้านี้

โดย ผู้กำกับฯ คนดัง ที่มาเปิดตัวผลงานหนังเรื่องล่าสุด “MONDO รัก | โพสต์ | ลบ | ลืม” ณ ชั้น 5 บริษัท สหมงคลฟิล์มฯ (ซ.พหลโยธิน 2) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าว บอกต้องการสะท้อนปัญหาให้สังคมตระหนัก ถึงการทำงานของคนเบื้องหลังที่เป็นอีกหนึ่งอาชีพฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจ พร้อมวอนรัฐออกกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพคนทำงาน พร้อมกันนี้ยังเผยถึงประเด็นดราม่า นักร้องดังเรียกค่าตัว 1 ล้าน

ถามเรื่องที่โพสต์ถึงวงการบันเทิง? “ผมเองก็เป็นสมาคมผู้กำกับฯ ภาพยนตร์ ร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวที่เป็นคนทำงานเบื้องหลังหลายๆ ตำแหน่ง ซึ่งเรามีการพูดคุยกันมาตลอดเรื่องสวัสดิภาพของคนทำงาน การทำงานหนักเกินเวลา ค่าตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรม คือเราพยายามไฝว้และเป็นปากเสียงให้กับคนเบื้องหลังที่ประสบกับสิ่งเหล่านี้อยู่ คือบางครั้งอาจจะพูดถึงเรื่องความอู้ฟู่ของคนเบื้องหน้า คนเบื้องหลังเขาก็อาจจะรู้สึก อ้าว แล้วทำไมหลังบ้านมันกระเบียดกระเสียนขนาดนี้ล่ะ เขาก็เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เราก็เลยเป็นกระบอกเสียงให้”

สิ่งที่เราเคลื่อนไหวไปมันช่วยอะไรได้มากขึ้นไหม? “มันก็ทำให้สังคมตระหนักรู้ บางคนอาจจะมองว่าถ้ามันเหนื่อยนัก ไปทำอย่างอื่นสิ แต่จริงๆ เราก็เป็นอาชีพหนึ่งนะ ที่เป็นฟันเฟืองของเศรษฐกิจใหญ่เลย เวลารัฐบาลพูดถึง soft power คนข้างหลังที่ทำงานอยู่มันเป็นอาชีพที่มันพยุงสิ่งเหล่านี้ด้วยไง สิ่งที่เราเห็นข้างหน้าสวยงามเป็นหน้าเป็นตาของประเทศชาติ ถ้าข้างหลังถูกกดขี่ ถูกเอาเปรียบ คุณยอมได้มั้ยล่ะ นี่คือสิ่งที่เราพยายามสื่อสารออกไป ไม่ได้ตั้งใจจะโจมตีใครโดยตัวบุคคล แต่เรากำลังพูดถึงระบบที่กำลังให้ความสำคัญกับความฟู่ฟ่าจนหลงลืมคนที่อยู่ข้างหลังไป อันนี้คือประเด็นสำคัญแล้วมันก็มีการพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ”

เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรมากขึ้นมั้ย? “ถ้าเป็นเบื้องหลังเรามองว่าทีมงานเริ่มกล้าที่จะออกมาพูดมากขึ้น คนทำงานต้องกล้าพูด ต้องกล้าออกมาเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองควรจะได้รับ อันนี้ทุกๆ สาขาอาชีพน้องๆ สื่อมวลชนก็เช่นกัน บางทีเราไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับการปฏิบัติแบบเท่าเทียม แต่เราเข้าใจนะ ไม่ใช่ว่าเราทุกคนจะได้ค่าตัวเท่ากับดารา มันไม่ใช่ คือเหนื่อยก็เหนื่อยแล้วยังมาปวดหัวกับความเรื่องมากอะไรอย่างนี้อีก ก็ต้องส่งเสียงสะท้อนไปสู่บุคคลหรือคนที่จัดการในสิ่งเหล่านี้ให้เขารู้ว่าทำแบบนี้มันไม่ถูก แล้วก็อยากจะให้สังคมรับรู้ด้วยว่า มันมีคนถูกกดขี่ มีคนไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่ กับคนที่เบื้องหน้าเห็นว่าสวยงามอะไรแบบนี้ สิ่งนั้นมันเห็นมากขึ้นแล้วพบว่าคนทำงานเบื้องหลังได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้นจากนักแสดงศิลปิน อันนี้ต้องพูดตรงๆ ว่าหลายๆ คนแล้วกัน ส่วนใหญ่ของวงการตอนนี้เขาก็หันมามองทีมงานบ้างแล้วว่าทำงานเลิกดึกเนาะ เราก็ควรจะมาให้ตรงเวลาและทำให้เต็มที่ สวัสดิการที่เรามีเผื่อแผ่แบ่งปันมีขนมอะไรมา น่ารัก ก็เริ่มดีขึ้น มันก็จุดประเด็นให้เห็น เขาหันมามองข้างหลังแล้ว เขาก็เริ่มเข้าใจ”

เรื่องความไม่น่ารักของคนเบื้องหน้า เราประสบกับตัวเองด้วยไหม? “ถ้าประสบด้วยก็มีบ้าง แต่เราก็จะเลือกคนที่เราคิดว่าเราจะไม่เจอ งานแป๊บๆ อาจมีบ้าง แต่เราจะพูดตรงๆ ก็จะสื่อสารกับผู้จัดการไปเลยว่าแบบนี้ไม่โอเค คุณเห็นมั้ยว่าข้างหลังรอคิวอยู่นะ แล้วฟรีแลนซ์คนหนึ่งรับงานนี้ด้วยเงินจำนวนหนึ่ง ถ้ามันกลายเป็นเดือน 2-3 เดือนขึ้นมา เงินก้อนนั้นสมมติรับไว้ หมื่นนึง หมื่นสอง แล้วเลื่อนไป 4 เดือน เขาเหลือตังค์ต่อเดือนเท่าไหร่ จริงๆ ของแบบนี้มันคุยกันได้”

พฤติกรรมของเขา หลังจากได้ฟีดแบ๊กกลับไป แล้วเป็นยังไง? “ส่วนใหญ่จะคุยกับผู้จัดการให้ไปสื่อสาร เพราะว่าจริงๆ ก็มาจากผู้จัดการเยอะ อันนี้ก็ต้องบอกกันตรงๆ บางทีก็มั่ว ผมพูดแบบคนที่อยู่ในวงการด้วยกัน บางทีการจัดการอาจจะงง รับงานเยอะแล้วสับสนลงคิว หรือรับงานนี้มา งานนี้ได้ตังค์เยอะกว่าแล้วก็ไป แล้วก็เท ทางนี้ก็เดือดร้อน

พอเราโพสต์ไปแบบนี้ กลัวดาราไม่อยากร่วมงานด้วยมั้ย? “ตัวจริงเป็นคนน่ารัก(หัวเราะ) ในเฟซบุ๊ก อาจจะดูเกรี้ยวกราดเพราะมันไม่มีน้ำเสียง แต่ทุกครั้งที่พูดจะพูดตรงๆ และพูดด้วยเหตุและผล พูดความจริงว่าสิ่งที่คุณทำมันมีคนเดือดร้อนอยู่ คุณรับงานรับเงินเต็มแล้วคุณไม่ให้คิวเต็ม คุณมาทีหลังกลับก่อนอย่างนี้ แล้วมันไม่เสร็จแล้วมันถ่างงานคนอื่นไป มันก็ไม่น่ารักเนาะ ก็ต้องพูดตรงๆ เพราะทีมงานทุกคนทำงานเต็มที่เพื่อคุณ”

ถ้าเตือนแล้วยังเกิดขึ้นอีก เราทำยังไงต่อไป? “ก็ช่างแม่ง (หัวเราะ) ก็ไปฟ้องผู้อำนวยการสร้าง ผู้จัด จริงๆ ถ้าเกิดผู้จัดหรือนักแสดงทำตัวไม่น่ารัก ในกองเขาก็จะรู้กันอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ฟีดแบ๊กไป แต่ว่าคนที่อยู่เบื้องหลังมีความอดทนสูงนะ เขาก็พยายามจะรันทุกอย่างไปให้มันจบได้ คราวหน้าก็แบบว่า คนนี้อีกแล้วเหรอ ไปบอกเขามั้ยว่าไม่ได้นะ”

แล้วถ้าเขาอ้างว่าอยู่หน้ากล้องเป็นหน้าเป็นตา ทุกคนต้องปฏิบัติกับเขาอย่างดีที่สุด? “การปฏิบัติกับนักแสดงกับคนหน้ากล้องอย่างดีมันเป็นสิ่งที่พึงกระทำอยู่แล้ว เพราะว่าคุณอยู่หน้ากล้อง คุณแบกรับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ คุณต้องจำบท ต้องมีสมาธิ คุณต้องดูดีต่อกล้อง อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องให้คุณอยู่แล้ว แต่ในสิทธิพิเศษนั้นมันไม่ได้แปลว่าคุณจะสามารถเอาเปรียบคนอื่นด้วยวิธีที่คุณอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ ผมเชื่อว่าบางทีอาจจะไม่รู้ตัว อาจจะไม่ได้เห็นมุมนี้ เราก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจผมก็จะบอกว่า ทุกวันนี้คนทุกคนมีสิทธิ์เป็นดาราได้หมด ทุกคนมีโซเชียลมีเดียของตัวเอง ทุกคนสามารถสร้างโซเชียลนัมเบอร์ให้ตัวเองได้ และเอาจริงๆ มันเป็นอย่างนี้ไปแล้ว ทุกวันนี้เอาอินฟลูฯ ใดใดก็ตาม นี่คือดาราของยุคนี้ คุณลองดูว่าดาราช่องหรือดาราที่เล่นหนังเล่นละครความนิยมค่อนข้างจะลดลง เห็นพรีเซ็นเตอร์มั้ย ส่วนใหญ่จะมาจากซีรีส์หรือเป็นอินฟลูฯ ดังนั้นทุกคนมีสิทธิ์เป็นดารา อายุงานของคนอยู่เบื้องหน้าสั้นลงมาก อยากจะบอกว่าถ้ารักษามันไว้ดี ก็จะอยู่ได้นาน แต่ถ้าเราไม่รักษามันก็น่าเสียดายเพราะบางคนไปได้อีกไกล ฝีมือก็ดี ถ้าเกิดไม่รักษาวินัยบางทีมันก็แทนที่โลกจะได้เห็นผลงานดีๆ ของคุณต่อไป โอกาสนี้มันก็สั้นลง”

ถ้าออกมาต่อสู้ต้องการเพิ่มเงินหรือตัวเลขให้กับคนเบื้องหลังหรือลดเงินของคนเบื้องหน้าลง? “พี่ว่าเรื่องนิสัยใจคอผู้จัดการมันเป็นเรื่องคุยกันได้แล้วพี่ก็เชื่อว่ามานั่งคุยกันแล้วมันเคลียร์ แต่สิ่งที่อยากให้สังคมรับรู้ก็คือคนทำงานเบื้องหลังมีความเป็นอยู่ที่ไม่มีกฏหมายคุ้มครอง ชั่วโมงในการทำงาน สวัสดิภาพในการทำงานค่อนข้างมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุภัยอันตรายหรืออายุงานของคนมันสั้นลงแล้วค่าตอบแทนมันอาจจะไม่สมน้ำสมเนื้อเท่าไหร่ ผมว่าสิ่งเหล่านี้รัฐและกฎหมายจะต้องเข้ามาช่วยควบคุมในเรื่องของสวัสดิภาพและชั่วโมงในการทำงานไม่ว่าจะเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เราทุกๆ คนสื่อมวลชนอะไรด้วย สาวโรงงานแรงงานยังมีกฎหมายคุ้มครองแต่พวกเราไม่มี เป็นรับจ้างทำของซึ่งตรงนี้ ผมอยากให้มีการพูดคุยในวงกว้างแล้วความเคลื่อนไหวนี้เชื่อว่าพี่น้องนักแสดงศิลปินผู้ที่อยู่เบื้องหน้าถ้าตระหนักเรื่องนี้ก็ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้พวกเราด้วยช่วยให้ชีวิตการทำงานดีขึ้นและวงการก็จะเติบโตไปได้แบบสุขภาพดี”

หน้าที่ของคนที่ต้องเข้ามาดูแลต้องเป็นคนในวงการหรือบริษัทที่จ้างเขามาทำงาน? “บริษัทมันจะมีเรื่องของการแข่งขันอยู่ บริษัทโปรดักส์ชั่นเฮ้าส์รับจากนายทุนมาสร้างงานซึ่งก็ไปจ้างฟรีแลนซ์อีกที แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าฟรีแลนซ์ค่าตัวการทำงานมันแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เราต้องการคือกฎหมายจริงๆ ที่ควบคุมชั่วโมงในการทำงาน และค่าจ้างสวัสดิการที่เป็นธรรม อันนี้พี่ว่าแค่นายทุน ช่อง หรือโปรดักชั่นเฮ้าส์เองมันควบคุมไม่ได้เพราะการแข่งขันมันสูง สมมติผู้จัดการนี้มีความเป็นธรรมอยากให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีทำงานไป 8 ชั่วโมงจาก 10 กว่าชั่วโมง แต่ถ้าเขาเจ๊งมีใครไปช่วยเขาละ เขาไม่ทำแบบนี้คนอื่นเขาก็ทำ ทีนี้มันต้องให้ทำเหมือนหมดทุกคนซึ่งสิ่งเหล่านี้กฎหมายที่จะต้องช่วยได้”

แล้วเรื่องนักร้องเรียกค่าตัว 1 ล้านยังไง? “ก็ไม่จ้าง(หัวเราะ) ก็ตามธรรมเนียมคิดเพลงขึ้นมาต้องการศิลปินชื่อดังมาช่วยร้อง ให้ทีมงานติดต่อ แล้วเหมือนไม่ค่อยตอบ ติดต่อทางผู้จัดการเขาก็ตอบช้าตอบงงอะไรแบบนี้ สุดท้ายพอได้เรทมาก็ตกอกตกใจ แต่ถามพี่นะจากประสบการณ์ พี่ว่าเป็นการตอบปัด มันไม่ค่อยน่ารักเท่าไหร่ ก็เลยสื่อสารไป น้องก็มาเล่าให้ฟังวิธีการพูดคุยมันเป็นแบบนี้ถ้าโปรเฟสชั่นแนลกันเขาไม่ตอบกันแบบนี้ จริงๆ เขาอาจจะมีก็ได้ (หัวเราะ) ไปพูดแบบนี้ก็ไม่น่ารักอะเนอะ แบบไปซื้อของร้านไหนแล้วเขาบอกว่า ล้านหนึ่ง แบบนี้ชอบไหม จากล้านนึงที่มีก็อาจจะไม่ ฉันไม่ซื้อ ก็แค่นั้นเอง ออกไปพอทางค่ายทราบก็โทรมาเคลียร์ ก็สื่อสารกันไปว่ามันมีวิธีปฏิเสธหรือพูดจาให้มันน่ารักกว่านี้ เราก็ไม่ได้ไปจัดวางว่าใครควรจะได้ยังไง”

แต่ที่โพสต์ออกไปเรื่องก็ใหญ่เลย? “ไม่คิดว่ามันจะใหญ่ ตอนนั้นก็ดื่มๆ อยู่ด้วย(หัวเราะ) ตื่นมาแบบ หาอะไรกัน”

หลังจากนั้นมีฟีดแบ๊กอะไรกลับมาอีกไหม? “กับนักร้องไม่ได้มีการสื่อสารกัน แต่คุยกับค่ายเพราะค่ายเขาก็น่ารักกับเราอยู่ ก็บอกเฮ้ยพี่ไม่มีอะไร ก็ลบโพสต์ไป ไม่อยากให้ไปจดจำอะไรเขาแบบนั้น”

คนตามหานักร้องคนนั้นเยอะเหมือนกัน? “ขอบคุณครับ (หัวเราะ)”

หลังจากนี้จะร่วมงานกับนักร้องคนนั้นได้ไหม?เฉยๆ ไม่อะไร เพราะเอาจริงๆ นักร้องในประเทศในโลกนี้มีเยอะแยะมากมาย และพี่ก็เชื่อในฝีมือการทำงานมากกว่า คือไม่ว่าใครจะยังไงใครวงการนี้บางคนเชื่อเรื่องตัวเลข เลือกคนที่มียอดฟอลเยอะๆ ทางค่ายเราเองเราไม่คิดแบบนั้น เรามองว่าเขามีเวลาให้เราไหม เขาทำงานให้เราดีไหม คือถ้าอย่างงี้เท่าไหร่ก็จ้างแต่ถ้าดังแล้วไม่มีเวลาก็เปล่าประโยชน์ ดังมากแล้วไม่มีเวลาโปรโมทจะทำงานกันไปทำไม

ในหัวอกคนทำงานสร้างหนังแล้วเราต้องหาคนมาร้องเพลงให้กับเรา มองเรื่องของต่างคนต่างได้ยังไง? “มองในคุณภาพของตัวนักร้องแล้วก็ความดังของเขาก็ช่วยโปรโมทหนังแล้วเพลงนี่คือทรัพย์สินของนักร้องนะ คือเขาก็สามารถเอาเพลงไปร้องไปต่อยอดได้จริงๆ มันก็วินๆ กันทั้งคู่ (ซึ่งเขาไม่รับ?) แล้วแต่ (หัวเราะ)”

ตอนนี้ไม่โกรธแล้ว? “ไม่โกรธ ไม่มีอะไร พี่ว่าเขาก็ไปร้องของเขาปกติอะไรก็ได้ ต่างฝ่ายต่างโอเค”

เขาดังมากไหมคนนั้น? “อย่ามาหลอกถาม พี่ว่าพี่ดังกว่า (หัวเราะ) เรื่องพี่ดังมากดังกว่าหนังอีก”.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน