นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เปิดเผยความคืบหน้าการเสนอขายหุ้น สามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ (SET) ของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำทะเล น้ำจืด และสัตว์เศรษฐกิจของคนไทย โดยคาดว่าจะขาย IPO ได้ในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. นี้ โดยมี บล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ทั้งนี้ จำนวนหุ้นที่จะเสนอขายทั้งหมด 109.3 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน 90.0 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย TU จำนวน 19.3 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนทั้งหมดไม่เกิน 21.9% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งเงินที่ได้จากการระดมทุน จะนำไปใช้ในการขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซียและปากีสถาน ชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับหาโอกาสในการซื้อกิจการที่มีศักยภาพในอนาคต

อย่างไรก็ดี บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัย 4 ของการดำรงชีวิต แม้ว่าในปี 2564 จะมีปัจจัยกดดันจากภาวะเศรษฐกิจและโควิด-19 ทำให้ยอดขายของบริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่อาจจะกระทบกำไรสุทธิบ้าง เนื่องจากราคาวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ โดยเฉพาะกากถั่วเหลืองซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศราคาปรับขึ้นถึง 30% ประกอบกับราคาอาหารสัตว์น้ำไม่ค่อยดีโดยเฉพาะอาหารกุ้งและปลากระพง ทำให้บริษัทไม่สามารถปรับราคาขายได้ แต่มีการปรับราคาขายอาหารสัตว์น้ำจืด 3-5% หลังกรมประมงอนุญาตให้ปรับราคาขึ้นได้

“มองว่าปีนี้จะเป็นปีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทอยู่ในจุดต่ำสุดแล้วและจากนี้ไปจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากมองว่าในปี 2565 สถานการณ์โควิดจะเริ่มคลี่คลาย และทำให้การบริโภคสัตว์น้ำกลับมาฟื้นตัว ราคาสัตว์น้ำก็จะเริ่มกลับมาดีขึ้น”

สำหรับโครงสร้างรายได้บริษัทในปัจจุบัน 90% มาจากอาหารสัตว์น้ำ แบ่งเป็นอาหารกุ้ง 49% อาหารปลา 39% ส่วนอีก 4-7% เป็นรายได้จากอาหารสัตว์บก และที่เหลือเป็นรายได้อื่นๆ

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมสัตว์น้ำของประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมประมงที่สำคัญของโลก จากปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำที่มีเพียงพอสำหรับส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั่วโลก เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เป็นต้น โดยผลผลิตสัตว์น้ำที่มีการส่งออกสูง ได้แก่ กุ้งสดแช่เย็น กุ้งสดแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์กุ้ง ส่งผลให้ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตกุ้งเป็นอันดับ 6 ของโลกในปี 2563

ด้านนายบรรลือศักร โสรัจจกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TFM เปิดเผยว่า ปี 2565 หากสถานการณ์ดีขึ้นจะเห็นการกลับมาฟื้นตัวขึ้นของยอดขายที่สูงขึ้นกว่าปี 2564 ที่มียอดขายทรงตัวที่ 4-5 พันล้านบาท ขณะเดียวกันโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ ในประเทศอินโดนีเซีย ที่บริษัทได้เข้าไปถือหุ้น 65% มูลค่าลงทุนกว่า 300 ล้านบาท ร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น ซึ่งจะเริ่มเดินเครื่องผลิตในเดือนพ.ย.ปีนี้ ช่วงแรกจะผลิตอาหารกุ้งเป็นหลัก และจะเริ่มขยายไปผลิตอาหารปลา โดยปีหน้าจะเดินเครื่องการผลิตได้เต็มปี ซึ่งจะทำให้ขึ้นเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำรายใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน