สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ที่ 33.68 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามจังหวะการย่อตัวของราคาทองคำในตลาดโลกและสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ มีแรงหนุนจากมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดและรายงานการประชุมเฟด ซึ่งกระตุ้นการคาดการณ์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เฟด จะเร่งปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ของมาตรการ QE และอาจจะตามมาด้วย สัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ในปีหน้าหากเงินเฟ้อยังอยู่ ในกรอบสูงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การเสนอชื่อนายเจอโรม พาวเวล เป็นประธานเฟด อีกสมัยก็เป็นปัจจัยบวกต่อดอลลาร์ ด้วยเช่นกัน ในวันศุกร์ (26 พ.ย.) เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 33.65 เทียบกับระดับ 32.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (19 พ.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (29 พ.ย.-3 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.20-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนต.ค. ของธปท. ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ดัชนี PMI และISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนพ.ย.

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนต.ค. และจำนวนผู้ขอรับ สวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย. ของยุโรป รวมถึงดัชนี PMI เดือนพ.ย. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงปลายสัปดาห์ แต่ยังไม่หลุดแนว 1,600 จุด โดย ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,610.61 จุด ลดลง 2.09% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 93,574.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.73% จากสัปดาห์ก่อน

ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.54% มาปิดที่ 565.08 จุด หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบเกือบตลอดสัปดาห์ ก่อนจะร่วงลงหนักในช่วงปลายสัปดาห์ โดยการขยับขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์มีปัจจัยหนุนจากตัวเลขส่งออกไทยซึ่งออกมาดีกว่าคาด ประกอบกับมีแรงซื้อต่อเนื่องในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี จากข่าวการควบรวมกิจการของบริษัทสื่อสาร

ขณะที่การขยับขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์หลักๆ ได้แรงหนุนจากแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยร่วงลงช่วงปลายสัปดาห์ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศ รวมถึงการพบไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (29 พ.ย.-3 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,585 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,630 และ 1,640 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ทิศทางเงินลงทุน ของนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนผลการประชุมโอเปกพลัส

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน การจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนพ.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนพ.ย. ของญี่ปุ่น ยูโรโซนและจีน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน ตลอดจนยอดค้าปลีกเดือนต.ค.ของญี่ปุ่นและยูโรโซน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน