บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (31 ต.ค.-4 พ.ย. 2565) สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทปรับตัวผันผวน โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ซึ่งเผชิญแรงขายตามค่าเงินหยวนหลังจากข้อมูล PMI เดือนต.ค. ของจีนออกมาน่าผิดหวัง อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่าในช่วงก่อนการประชุม FOMC ซึ่งตลาดมีความหวังว่า เฟดอาจเริ่มส่งสัญญาณชะลอแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ดี เงินบาทล้างช่วงบวกลงเกือบทั้งหมดและกลับมาอ่อนค่าหลังการประชุมเฟด ซึ่งแม้เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 3.75-4.00% ตามคาด แต่ท่าทีของประธานเฟดที่ยังคงกังวลเงินเฟ้อก็สะท้อนว่า เฟดจะยังไม่ยุติวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้นี้ เงินบาทแข็งค่ากลับมาได้อีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ตามสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้น ขณะที่เงินดอลลาร์ ขาดแรงหนุนเพิ่มเติม เนื่องจากตลาดยังคงรอติดตามตัวเลขตลาดแรงงานเดือนต.ค. ของสหรัฐ ในวันศุกร์ที่ 4 พ.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 37.90 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (28 ต.ค.)

ขณะที่ระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-4 พ.ย. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 14,191 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตร 14,429 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 15,696 ล้านบาท แต่มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 1,267 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (7-11 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 37.00-38.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเดือนต.ค. ผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์ค่าเงินในภูมิภาค

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนต.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภคเดือนพ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน อาทิ ตัวเลขทุนสำรองฯ ดัชนีราคา ผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/65 ของอังกฤษและอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 ทั้งนี้ SET Index ดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค โดยมีแรงหนุนจากกระแสข่าวที่ว่าจีนกำลังพิจารณาเรื่องการเปิดประเทศ ประกอบกับมีแรงซื้อต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยระหว่างสัปดาห์มีการประชุมเฟด ซึ่งแม้เฟดจะมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามตลาดคาด แต่ได้ส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ยนานกว่าคาด ส่วนช่วงปลายสัปดาห์หุ้นไทยแกว่งตัวกรอบแคบระหว่างรอติดตามข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐ








Advertisement

ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มที่มีแรงซื้อเข้ามามากสุดในสัปดาห์นี้ ได้แก่ กลุ่มพลังงาน แบงก์และไฟแนนซ์ ในวันศุกร์ (4 พ.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,626.32 จุด เพิ่มขึ้น 1.26% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่า การซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 61,350.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.25% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.41% มาปิดที่ระดับ 645.20 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (7-11 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,610 และ 1,600 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,640 และ 1,650 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการงวดไตรมาส 3/65 ของบจ.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนก.ย. ของยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงข้อมูล เศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค และข้อมูลการส่งออก


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน