บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (27-30 มี.ค. 2566) สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทแกว่งตัวผันผวนในกรอบ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางเงินหยวน หลังตัวเลขกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.-ก.พ. ของจีนออกมาต่ำกว่าที่คาด

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นตามภาพรวมตลาดหุ้นและสกุลเงินเอเชีย หลังจากที่ดีลเข้าซื้อกิจการธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ ของธนาคารเฟิร์สต์ ซิติเซนส์ แบงก์ ช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาในภาคธนาคารของสหรัฐ ลงบางส่วน เงินบาทเพิ่มช่วงบวกต่อเนื่องหลังผลการประชุมกนง. ช่วงกลางสัปดาห์ ซึ่งมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ไปที่ 1.75% พร้อมส่งสัญญาณว่า การปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) ยังคงต้องดำเนินต่อไป

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ ยังอ่อนค่าลง หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ อาทิ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 (final) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดีแรงขายเงินดอลลาร์ ชะลอลงบางส่วนก่อนการรายงานข้อมูลดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐ ในเดือนก.พ.

ในวันศุกร์ที่ 31 มี.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.16 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 34.15 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 มี.ค.)

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 3-7 เม.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,985 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทยที่ 1,833 ล้านบาท (ซื้อสุทธิ 7,811 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้หมดอายุ 5,978 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (3-7 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ของไทย พัฒนาการปัญหาของแบงก์ในสหรัฐ และยุโรป ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP เดือนมี.ค. ข้อมูลการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม RBA และ RBNZ ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนมี.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยกลับมาเคลื่อนไหวเหนือระดับ 1,600 จุดได้อีกครั้ง ทั้งนี้ หุ้นไทยปรับตัวขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ โดยมีแรงหนุนจากรายงานข่าวเกี่ยวกับการเข้าซื้อธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ของสหรัฐ และผลการประชุมกนง. ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงช่วงสั้นๆ ระหว่างสัปดาห์ โดยถูกกดดันจากตัวเลขส่งออกเดือนก.พ. ของไทยที่ออกมาหดตัวต่อเนื่อง ก่อนจะขยับขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ อนึ่ง หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับขึ้นมากสุดในสัปดาห์นี้ โดยมีแรงซื้อหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งช่วยหนุน จากการเก็งกำไรเรื่องผลประกอบการ ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานมีแรงหนุนจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวขึ้น

ในวันศุกร์ (31 มี.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,609.17 จุด เพิ่มขึ้น 1.09% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 43,880.00 ล้านบาท ลดลง 16.16% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.66% มาปิดที่ระดับ 538.10 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,585 และ 1,575 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,615 และ 1,625 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมี.ค. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนมี.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนมี.ค. ของญี่ปุ่น จีน และยูโรโซน รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.พ. ของยูโรโซน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน