วันที่ 6 มิ.ย. พล.ร.อ.รพล คำคล้าย อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมเจษฎาเทคนิคมิวเซียมพร้อมด้วยเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 โดยมี ดร.ภาคภูมิ เดชสกุลฤทธิ์ กรรมการบริหารมูลนิธิเจษฎาเทคนิคมิวเซียม ให้การต้อนรับเป็นอย่างดีและอบอุ่นเป็นอย่างยิ่ง นอกจากเจษฎาเทคนิคมิวเซียมจะมีรถโบราณแล้ว ยังมียานพาหนะอื่นจัดแสดงอีกด้วย และทราบว่าเจษฎาเทคนิคมิวเซียม ได้รับเรือที่ปลดประจำการจากกองทัพเรือมา 2 ลำ คือ เรือหลวงอุดมเดช และเรือ ต.93 จึงสนใจเป็นพิเศษ

พล.ร.อ.รพล กล่าวว่าเมื่อปี พ.ศ.2521 ตนได้รับคัดเลือกให้เป็นกำลังพลรับเรือชุดแรกของเรือหลวงอุดมเดช ในตำแหน่งต้นปืน ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี โดยในช่วงแรกได้ไปเข้ารับอบรมการใช้งาน การบำรุงรักษา และซ่อมทำปืนหัว 76/62 OTO Melara และปืนท้าย 40/70 Breda-Bofors หลังจากนั้นมีภารกิจสนับสนุนคณะกรรมการตรวจการจ้างสร้างเรือของกองทัพเรือ ในการควบคุมงานติดตั้งอาวุธ, การทดสอบยิงปืน, การทดสอบเรดาร์ควบคุมการยิง และระบบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งเรือหลวงอุดมเดชขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2523 หลังจากนั้นเรือเดินทางกลับประเทศไทย เข้าจอดที่ฐานทัพเรือสัตหีบ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2523 ผมปฏิบัติงานในหน้าที่ต้นปืน ต่อมาเป็นต้นเรือ และเป็นผู้บังคับการเรือหลวงอุดมเดชในที่สุด

พล.ร.อ.รพล คำคล้าย

พล.ร.อ.รพล คำคล้าย

 

พล.ร.อ.รพล ยังได้เล่าถึงความเป็นมาของเรือหลวงอุดมเดชว่า กองทัพเรือได้จัดหาเรือชุดเรือหลวงราชฤทธิ์ ในปี พ.ศ.2519 โดยใช้งบประมาณจากค่าสัมปทานสำรวจน้ำมันในทะเลจากบริษัทต่างๆ นอกเหนือจากงบประมาณประจำและมีชื่อโครงการว่า “การจัดหาเรือคุ้มครองการสำรวจน้ำมันในทะเล” โดยเรือชุดเรือหลวงราชฤทธิ์ เป็นเรือยนต์เร็วโจมตีอาวุธปล่อยนำวิถี (EXOCET) ประกอบด้วยเรือ 3 ลำ ได้แก่ เรือหลวงราชฤทธิ์, เรือหลวงวิทยาคม และเรือหลวงอุดมเดช เมื่อแรกเข้าประจำการ เรือหลวงอุดมเดช มีหมายเลขเรือ คือหมายเลข 6 ต่อมากองทัพเรือกำหนดให้ใช้หมายเลขตามกองเรือที่สังกัด จึงเปลี่ยนเป็น 323 ตามที่เห็นในปัจจุบัน เรือหลวงอุดมเดชได้รับใช้กองทัพเรือมายาวนานเกือบ40ปี จนในปี 2560 กองทัพเรือจึงได้ทำการปลดระวางประจำการ

เรือหลวงอุดมเดช ออกเรือจากอู่ต่อเรือ Cantiere Navale Breda แล่นผ่านหอสูงที่จัตุรัส Piazza San Marco เมื่อปี 2523

 

“ผมยินดีที่จะให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องการบูรณะซ่อมแซมเรือหลวงอุดมเดช รวมถึงเรือ ต.93 โดยต้องการให้รูปลักษณ์ภายนอกสมบูรณ์เหมือนของเดิมมากที่สุดโดยเฉพาะเรื่องรูปแบบการติดตั้งอาวุธ เช่น ป้อมปืนหัวและปืนท้าย แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถี และโดมเรดาร์ควบคุมการยิง เป็นต้น นอกจากนั้นยังยินดีให้คำแนะนำอื่นๆ เพื่อให้งานบูรณะเรือเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ และสุดท้ายนี้ผมขออวยพรให้การดำเนินการในทุกกิจกรรมของเจษฎาเทคนิคมิวเซียมไม่มีอุปสรรคใดๆ สำเร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้ และเปิดให้ประชาชนที่มีความสนใจได้เข้าชมได้โดยเร็ว”

เรือหลวงอุดมเดช แล่นผ่านสะพานพระพุทธยอดฟ้า ผ่านพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม เมื่อปี 2524

 

พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ พุกกะรัตน์ อดีตรองเสนาธิการทหาร และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (สมัยนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) กล่าวว่าได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมเจษฎาเทคนิคมิวเซียมแห่งใหม่ โดย ดร.ภาคภูมิ เดชสกุลฤทธิ์ เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงวันเกิดอายุครบ 73 ปี นอกจากได้สังสรรค์กับเพื่อนเตรียมทหาร รุ่น 10 ตามประสาคนสนิทแล้วยังได้มีโอกาสหวนรำลึกความหลังถึงเรือหลวงอุดมเดชและเรือ ต.93 ที่เจษฎาเทคนิคมิวเซียมได้รับมาจากกองทัพเรืออีกด้วย

พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ พุกกะรัตน์

 

ผมเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการเรือหลวงอุดมเดชลำนี้ ซึ่งอยู่ในช่วงที่เรือไม่ออกทะเลแล้ว จึงเป็นการดูแลและบำรุงรักษาตามระยะเวลา ส่วนเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.93 นั้น กองทัพเรือโดยกรมอู่ทหารเรือรับสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยการต่อเรือในชุดเรือ ต.91 ขึ้น และในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเสด็จไปประกอบพิธีปล่อยเรือ ต.91 ลงน้ำ และนับจากนั้น กองทัพเรือได้ดำเนินการต่อเรือในชุด ต.91 เพิ่มเติมอีกคือ ต.92, ต.93, ต.94, ต.95, ต.96, ต.97, ต.98 และ ต.99 ในระหว่างปี 2514 – 2530

จากที่ได้มาเยี่ยมชมมิวเซียมในวันนี้ทำให้ผมได้ทราบว่า ดร.ภาคภูมิ เดชสกุลฤทธิ์ และคุณอภิสิทธิ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษามูลนิธิเจษฎาเทคนิคมิวเซียมด้านการพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ วางแผนบูรณะเรือหลวงอุดมเดชและเรือ ต.93 เพื่อจัดแสดงในพื้นที่เจษฎาเทคนิคมิวเซียมแห่งใหม่

ผมจึงขออาสามากำกับดูแลให้ความรู้ ให้คำแนะนำและประสบการณ์ที่มีตลอดชีวิตการรับราชการมาถ่ายทอดให้ทีมงานเจษฎาเทคนิคมิวเซียมได้ทราบ และผมขอแนะนำให้จัดนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมา, สมรรถนะของเรือ, ลักษณะเด่นของเรือ และวิธีการแสดงความเคารพธงหัวเรือ (ธงรูปสมอเรือ) และธงท้ายเรือ (ธงรูปช้าง) ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นแหล่งให้ความรู้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่และสร้างความน่าสนใจให้กับประชาชนผู้สนใจทั่วไปที่ตั้งตารอชมเรือหลวงอุดมเดชและเรือ ต.93 ได้เป็นอย่างดี

“เมื่อพื้นที่จัดแสดงเรือตกแต่งเสร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว ผมขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจทั่วไปมาเยี่ยมชมประวัติศาสตร์ยานพาหนะโบราณที่จัดแสดงในเจษฎาเทคนิคมิวเซียมแห่งใหม่ และในฐานะหัวหน้าก๊วนตัวตึงเตรียมทหาร รุ่น 10 ขอเชิญชวนนายทหารทุกนาย รวมถึงเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 อาทิ พล.อ.วรวิทย์ ชินะนาวิน, พล.อ.วุทธิ์ วิมุกตะลพ, พล.ร.อ.รพล คำคล้าย, พล.ท.มนัส เปาริก, พล.ท.บรรพต งามกัณหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร เมื่อท่านกลับมาเมืองไทยแล้ว ผมขอเป็นไกด์นำเที่ยวชมเจษฎาเทคนิคมิวเซียมแห่งนี้ด้วยตัวเอง และจะแจ้ง ดร.ภาคภูมิ ให้เตรียมการต้อนรับอย่างดี รวมถึงมีของฝากติดไม้ติดมือคือส้มโอ ผลไม้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของอำเภอนครชัยศรี” พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ กล่าว

ด้าน ดร.ภาคภูมิ เดชสกุลฤทธิ์ กล่าวว่า ขอขอบพระคุณ พล.ร.อ.รพล คำคล้าย และ พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ พุกกะรัตน์ ที่ได้กรุณาสละเวลาให้คำแนะนำเรื่องการบูรณะเรือหลวงอุดมเดช และเรือ ต.93 แต่ละท่านเป็นเจ้ากรมมาหลายหน่วยงาน พล.ร.อ.รพล คำคล้าย เป็น เจ้ากรมการเงิน, เจ้ากรมสรรพาวุธ , เจ้ากรมข่าวทหารเรือ เสนาธิการทหารเรือ และตำแหน่งสุดท้ายคือ รองปลัดกระทรวงกลาโหม

ส่วน พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ พุกกะรัตน์ เป็นเจ้ากรมสรรพาวุธ, เจ้ากรมส่งกำลังบำรุง, เจ้ากรมจเรทหารเรือ และตำแหน่งสุดท้ายคือ รองเสนาธิการทหาร จะเห็นได้ว่าประวัติและความรู้ความสามารถพิสูจน์แล้วว่าทั้งสองท่านเป็นปูชนียบุคคลที่สร้างคุโณปการแก่ประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง ผมจึงได้รับเกียรติอย่างสูงที่ทั้งสองท่านได้ถ่ายทอดความรู้ คำแนะนำ ตลอดจนมาเยี่ยมชมพื้นที่จัดแสดงจริง เพื่อเตรียมพร้อมเปิดเจษฎาเทคนิคมิวเซียมแห่งใหม่ให้แฟนคลับและประชาชนผู้สนใจเข้าชมในเร็ววันนี้

และนอกจากนี้ผมยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ทรงวุฒิท่านอื่นๆ เพื่อได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ครบถ้วนในทุกมิติ และนำมาใช้ในการดำเนินการบูรณะเรือหลวงอุดมเดช และเรือ ต.93 ที่จะจัดแสดง ณ เจษฎาเทคนิคมิวเซียมแห่งใหม่


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน