สมบัติ สิมหล้า เจ้าของสมญา “หมอแคนนิ้วทองคำ” หมอแคนเก่งที่สุดแห่งยุค ฝีมือก้าวหน้าที่สุดแห่งยุค

สมบัติ สิมหล้า เป็นหมอแคนตาบอดตั้งแต่กำเนิด เกิดวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2506 ปัจจุบันอายุ 54 ปี เป็นชาวอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม พ่อชื่อปอง สิมหล้า เป็นหมอแคน แม่ชื่อบุตร สิมหล้า อาชีพชาวนา มีพี่น้องร่วมท้อง 6 คน ไม่มีใครสืบทอดอาชีพหมอแคนหรือหมอลำจากพ่อ นอกจากสมบัติ สิมหล้า ซึ่งได้เดินบนเส้นชีวิตของหมอแคนและทำมาหากินกับหมอลำเป็นอาชีพ

อาศัยแคนเป็นเครื่องมือทำมาหากิน

เนื่องจากตาบอดจึงไม่มีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียน แต่คนตาบอดอย่างสมบัติ สิมหล้า ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา พยายามเรียนรู้ชีวิตโดยฟังพ่อเป่าแคนทุกวัน การเรียนรู้ชีวิตโดยฟังเสียงแคนที่พ่อเป่าตั้งแต่เด็ก ฟังเสียงทุกๆเสียงที่อยู่รอบๆตัว กลายเป็นโรงเรียนชีวิตของสมบัติ สิมหล้า

โดยธรรมชาติของเด็กตาบอด ใช้ประสาทหูรับรู้เสียงเป็นหลัก หูคนของตาบอดจึงพัฒนาได้รวดเร็วกว่าคนธรรมดา ทำให้สมบัติ สิมหล้า ใช้หูในการรับรู้และสื่อสาร ฟังเสียงทุกเสียงและได้เลียนแบบเสียงที่ได้ยินเหล่านั้นด้วยความสนุกสนาน

เมื่ออายุได้ 6 ขวบ พ่อนำไปฝากกับหมอแคนที่มีฝีมือและมีชื่อเสียงชื่อ “หมอแคนทองจันทร์” หมอแคนเล่นคู่กับหมอลำอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี

หมอแคนทองจันทร์ สอนให้ฟังและจำเสียง แล้วให้เป่าตามเสียงที่ได้ยิน ซึ่งเรียนรู้โดยการเลียนแบบ ต่อมาได้ไปฝึกกับหมอลำ “คำพัน ฝนแสนห่า” และ “หมอลำวิรัช ม้าแข่ง” ที่อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา จนมีโอกาสเป่าแคนครั้งแรกในงานบวชที่อำเภอประทาย จนกระทั่งได้เป็นหมอแคนประจำวงหมอลำ








Advertisement

หลังจากเป็นหมอแคนประจำวงหมอลำอยู่ 5-6 ปี ช่วงปี พ.ศ.2519 สมบัติ สิมหล้า อายุ 13 ปี สมัครเข้าประกวดเป่าแคนงาน “มรดกอีสาน” จัดโดยวิทยาลัยครูมหาสารคาม สมบัติ สิมหล้า เลือกเป่าลายใหญ่ ลายน้อย และลายสุดสะแนน ได้เข้ารอบสุดท้าย 3 คน

“หมอแคนสุดใจ” ได้ลำดับที่ 3 “หมอแคนทองพูน” กับ “หมอแคนสมบัติ สิมหล้า” ได้คะแนนเท่ากัน ต้องดวลกันเพื่อตัดสินอันดับ 1

รอบดวลเพื่อหาอันดับ 1 สมบัติ สิมหล้า โชว์การเป่าแคนเลียนเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ เช่น เสียงกีตาร์ เสียงซอ เป่าเพลงเพื่อชีวิต และเป่าเพลงสากล เมื่อเป่าเพลงสากลได้ 3-4 เพลง ได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมมากมาย ในที่สุดก็คว้ารางวัลที่ 1 ไปครอง

ปี 2521 สมบัติ สิมหล้า อายุ 15 ปี เข้าร่วมประกวดเป่าแคนงาน “สาวผู้ดีที่ราบสูง” จัดที่วิทยาลัยคณาสวัสดิ์ (ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม) สมบัติ สิมหล้า ได้รางวัลที่ 1 จากนั้นเข้าประกวดตามเวทีแข่งขันอีกหลายๆเวทีได้รางวัลที่ 1 เสมอ

จนได้รับฉายาว่า “หมอแคนนิ้วทองคำ” และ “หมอแคนแชมป์ตลอดกาล”

ด้วยฝีมือฝีปากอันยอดเยี่ยมในการเป่าแคน สมบัติ สิมหล้า กลายเป็นหมอแคนผู้โด่งดัง เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ได้รับเชิญไปแสดงกับวงดนตรีต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น วงฟองน้ำของบรู๊ซ แกสตัน (Bruce Gaston), วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra), วงแมนฮัตตันแจ๊สควอเต็ต (Manhattan Jazz Quartet) และวงบางกอกพาราไดซ์

สมบัติ สิมหล้า ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายและเป่าแคนสอนเด็กตามสถาบันการศึกษา
ปี 2555 สมบัติ สิมหล้า ได้รับรางวัลของมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข สนับสนุนจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นการเชิดชูผู้กระทำความดีในสาขาดนตรี

สำหรับ“แคน”เป็นเครื่องดนตรีที่มีร่องรอยประวัติศาสตร์อายุก่อน 3 พันปี มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตสังคมในพื้นที่อุษาคเนย์ เป็นวัฒนธรรมร่วมเหมือนกับวัฒนธรรมข้าวเหนียว วัฒนธรรมปลาร้า วัฒนธรรมไม้ไผ่ วัฒนธรรมฆ้อง เป็นต้น

แคนเป็นเครื่องหมายของความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอยู่ที่สำคัญ

ขอบคุณข้อมูล – รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้ก่อตั้งและคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ขอบคุณ WHO KEY WHO DARK ผู้เผยแพร่คลิป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน