สหรัฐฯ พอใจ ภารกิจค้นหาอัฐิ “นักบินอเมริกัน” ถูกไทยยิงตก ที่ดอยฝรั่งลำปาง สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วันที่ 11 พ.ย. จะครบรอบ 80 ปี

วันที่ 15 ก.พ. 2567 ที่ ดอยฝรั่ง ม่อนพระยาแช่ บ้านทรายใต้ ต.พิชัย อ.เมืองลำปาง ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต ทีมงานสำนักงานค้นหาเชลยศึกและผู้สูญหายของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (Defense POW/MIA Accounting Command: DPAA) ยังคงเดินหน้าค้นหาอัฐิของ ร.ท. Henry Francis Minco นักบินสหรัฐฯ ที่เสียชีวิตจากการสู้รบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังถูกฝ่ายอักษะ (ไทย) โดย ร.ท.คำรบ เปล่งขำ ยิงเครื่องบินพี 51 มัสแตง ของอเมริกา ตกจากน่านฟ้า จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2487 ซึ่งในปีนี้จะครบรอบ 80 ปี สำหรับการค้นหายังคงเจอเศษชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นเล็กชิ้นน้อย ที่จะนำส่งพิสูจน์ต่อไป เพื่อหาข้อสรุปในการสูญหายของนักบินสหรัฐที่ จ.ลำปางสหรัฐฯ พอใจ ภารกิจค้นหาอัฐิ "นักบินอเมริกัน" ถูกไทยยิงตก ที่ดอยฝรั่งลำปางพล.อ.อ.ศักดิ์พินิต พร้อมเทพ อดีตเจ้ากรมสารบรรณทหารอากาศ อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ ที่ร่วมภารกิจค้นหา เปิดเผยว่า จุดที่เครื่องบินตกอยู่ในประวัติศาสตร์ของกองทัพอากาศอยู่แล้ว ว่าเคยมีการรบทางอากาศเหนือท้องฟ้าลำปาง ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา เป็นความสนใจส่วนตัวและพยายามค้นคว้าหาข้อมูลมาเรื่อยๆ

พล.อ.อ.ศักดิ์พินิต กล่าวต่อว่า ตนเริ่มอ่านมาตั้งแต่ปี 2508 และกว่าจะค้นพบว่านักบินชื่ออะไร คือปี พ.ศ. 2543 ใช้เวลาถึง 35 ปี นอกจากนี้ได้พบหลักฐานในเอกสารของทั้งไทยและอเมริกา ต่อมาได้ติดต่อกับ แดน แจ็คสัน จากกองทัพอากาศสหรัฐ ที่สนใจในเรื่องเดียวกัน รวมทั้ง ริชาร์ด แฮกเคนสัน ซึ่งเกษียณแล้วและพำนักอยู่ที่เชียงใหม่สหรัฐฯ พอใจ ภารกิจค้นหาอัฐิ "นักบินอเมริกัน" ถูกไทยยิงตก ที่ดอยฝรั่งลำปางพล.อ.อ.ศักดิ์พินิต กล่าวอีกว่า ตนดูแลในเรื่องข้อมูล แต่แดนและริชาร์ดลงพื้นที่เริ่มค้นหาจนมาพบจุดเครื่องบินตก ก่อนมีการสำรวจเพิ่มเติมจาก DPAA นำมาสู่การขุดค้นและค้นหากันอยู่หลายครั้ง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะเจอชิ้นส่วนร่างกายของเขา เพื่อนำกลับบ้านเกิดเมืองนอน หลังเหตุการณ์ผ่านมาแล้ว 80 ปี

“กว่าจะรู้จุดตกนั้น ริชาร์ดลงมาสอบถามคนเฒ่าคนแก่ คนมีประสบการณ์ และชาวบ้านหลายคนบอกว่า ระหว่างที่เดินป่าได้พบเศษชิ้นส่วนโลหะ ซึ่งน่าจะเป็นของเครื่องบิน จนเป็นจุดเริ่มต้นที่เรากำหนดวงได้แคบลง จนสุดท้ายมีการสำรวจโดยผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐจนได้รับการยืนยันว่าเป็นจุดที่เครื่องบินตกที่นี่ เลยเริ่มขุดค้นกันที่นี่” อดีตเจ้ากรมสารบรรณทหารอากาศ กล่าวอีกว่า จริงๆ โอกาสที่จะเจอนั้นยากมาก เนื่องจากผ่านมา 80 ปีแล้ว ในตอนที่สงครามสงบลง สหรัฐฯ ก็มีทีมเข้ามาค้นหานักบินของเขาที่สูญหายในประเทศไทยแล้ว แต่ไม่สามารถเข้ามาถึงตรงจุดนี้ได้ ซึ่งทำให้เกือบจะปิดกรณีนี้ไปแล้วว่าไม่สามารถค้นหาได้เนื่องจากภูมิประเทศยากลำบาก คือตอน 80 ปีที่แล้ว เส้นทางจะยากลำบากกว่านี้มาก

อดีตเจ้ากรมสารบรรณทหารอากาศ กล่าวต่อว่า กระทั่งฝ่ายเราได้ร่วมมือกันจนค้นจุดตกตรงนี้พบ เป็นการจุดประกายว่านักบินคนนี้มีโอกาสได้กลับบ้านเสียที หลังจากรอมา 80 ปี ส่วนที่ผ่านมามีการขุดพบอะไรนั้น ตรงนี้ต้องให้ทีมสหรัฐฯ เป็นคนตอบ แต่เท่าที่ทราบคือมีข่าวดีอยู่เรื่อยๆด้าน ร.อ.โจนาธาน ฮูทนิก หัวหน้าทีม (Capt. Jonathan Hootnick, team leader) ให้สัมภาษณ์ว่า เป้าหมายของภารกิจคือตามหาชาวอเมริกันที่สูญหายในช่วงสงครามเท่าที่จะทำได้ ซึ่งได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากเจ้าหน้าที่ของไทย ในการขุดตรงนี้ถ้าเราเจออะไร ต้องส่งกลับไปที่ห้องแล็บให้พิสูจน์ว่าคือชิ้นส่วนที่ต้องการตามหาหรือไม่

ร.อ.โจนาธาน กล่าวต่อว่า ยังไม่สามารถบอกได้ว่าชิ้นส่วนที่พบคือส่วนไหน จนกว่าจะส่งให้ห้องแล็บที่ฮาวายพิสูจน์ว่าคือชิ้นส่วนอะไร จึงจะสามารถบอกได้ว่าเป็นสิ่งที่กำลังตามหาอยู่ ตอนนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าชิ้นส่วนนั้นคืออะไร จนกว่าจะได้ผลตรวจร.อ.โจนาธาน กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะพูดได้ตอนนี้คือมีความเป็นไปได้ที่เกี่ยวข้องกับนักบินที่สูญหาย แต่จะยืนยันได้ก็ต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ออกมาก่อนว่าใช่สิ่งนั้นจริงๆ ณ ตอนนี้ที่ทำงานพอใจ ได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากไทย และมีความคืบหน้าอย่างมาก ในการค้นหานั้นอาจจะใช้เวลาหลายปี เพราะการขุดค้นยาก และไม่สามารถบอกได้ว่าจะสิ้นสุดตอนไหน

ต่อมานายโรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ พร้อมนางลิสา บูเจนนาส กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ นายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เดินทางลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าในการค้นหานายโรเบิร์ต กล่าวหลังลงตรวจพื้นที่ว่า ครั้งนี้เป็นภารกิจสำคัญมากที่ใกล้บรรลุเป้าหมายในการหาข้อสรุปให้กับครอบครัวผู้สูญเสียบุคลลอันเป็นที่รักในสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนความคืบหน้าในการค้นหานั้นเป็นได้ด้วยดี สำหรับชิ้นส่วนกระดูกของนักบินถ้ายังหาไม่เจอ ต้องดูความจำเป็นในส่วนของหลักฐาน ถ้าจำเป็นก็ต้องค้นหาต่อไปเรื่อยๆ








Advertisement

ขณะที่เจ้าหน้าที่ DPAA เปิดเผยว่าว่า ในด้านรายละเอียดว่าขุดค้นเจอหลักฐานอะไรบ้างยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ยังอยู่ในกระบวนการที่เราส่งไปให้ห้องแล็บที่ฮาวายเพื่อทำการวิเคราะห์ แต่ถ้าถามในภาพรวมถือว่าประสบความสำเร็จและคืบหน้าไปได้ด้วยดี พอใจกับการขุดค้นของเรามาก

ทั้งนี้ ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2484-2488) มีการวางกำลังทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรจึงส่งหน่วยทางอากาศเข้ามาปฏิบัติการทางภาคเหนือของไทย เพื่อยับยั้งและขัดขวางการส่งกำลังบำรุงของญี่ปุ่นที่มีฐานในไทย

วันที่ 11 พ.ย. 2487 เครื่องบินขับไล่แบบ P-51 และ P-38 ของสหรัฐฯ 16 ลำ ออกเดินทางจากฐานบินในมลฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน เพื่อค้นหาและโจมตีหน่วยปฏิบัติการสนับสนุนของญี่ปุ่นทางเหนือของไทย

หน่วยของสหรัฐฯ มุ่งหน้าสู่ จ.ลำปาง และถูกสกัดกั้นจากเครื่องบินขับไล่แบบ Ki-27 หรือ “โอตะ” ของไทย จำนวน 5 ลำ ซึ่งบินออกจากสนามบินลำปาง จึงเกิดการต่อสู้ระยะประชิดในอากาศระหว่างเครื่องบินของไทย 5 ลำ และของสหรัฐฯ 16 ลำ ซึ่งในเวลาต่อมาเรียกว่า “ยุทธเวหา 5 ต่อ 16 เหนือนครลำปาง”

จากการรบดังกล่าว ส่งผลให้เครื่องบินของไทยถูกยิงตก 4 ลำ เสียหายอย่างหนัก 1 ลำ นักบินเสียชีวิต 1 คน สำหรับฝ่ายสหรัฐฯ เครื่องบิน P-38 เสียหายอย่างหนัก 1 ลำ เสียหายเล็กน้อย 1 ลำ และเครื่องบิน P-51 ลำหนึ่งถูกยิงตกในเทือกเขา จ.ลำปาง จนนำมาสู่การค้นหาดังกล่าวที่ดอยฝรั่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน