คอลัมน์ รายงานพิเศษ

เมื่อรัฐบาลยืนยันโรดแม็ปยังเป็นไปตามกำหนดเดิม ย่างก้าวจากนี้ของนักการเมืองก็คือการเดินหน้าเข้าสู่โหมดการ เลือกตั้ง

นอกจากเสียงเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกพรรคการเมือง

พรรคเพื่อไทยยังเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 นิรโทษกรรมผู้เห็นต่างทางการเมือง ก่อนจะมีการเลือกตั้งเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง

นักวิชาการด้านสันติวิธี นักเคลื่อนไหวทางสังคม อดีตส.ว. เห็นด้วยกับเรื่องนี้หรือไม่

2

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ

ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

การนิรโทษกรรมก่อนการเลือกตั้งตาม ข้อเสนอแนะของ อดีตส.ส.พรรค เพื่อไทยไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะรัฐบาลพูดเสมอว่าถูกผิดให้ยึดไปตามกฎหมาย

สิ่งที่มีความเป็นไปได้มากกว่าหากจะมีคือการขออภัยโทษ สำหรับบุคคลที่ศาลตัดสินแล้วว่าผิดเคยรับโทษมาแล้ว แต่ผลในทางการเมืองจะไม่ได้รับการยกเว้น ใครถูกตัดสิทธิทางการเมืองก็ต้องรอเวลาจนกว่าจะครบกำหนด

ด้านข้อเสนอปรองดองของพรรคประชาธิปัตย์ยิ่งเป็นไปได้ยาก มันคือสิ่งที่ควรเกิดขึ้นก่อนการมีรัฐประหาร ซึ่งทุกฝ่าย ทั้งกองทัพ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์มีโอกาส ผลักดันก่อนประเทศจะมาถึงจุดนี้ จนภายหลังการยึดอำนาจ ถึงตอนนี้รัฐบาลก็ยังไม่ดำเนินการทั้งที่มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาหาแนวทางไว้หลายชุด

หากรัฐบาลรับฟังก็ควรพิจารณาทบทวนว่าช่วงเวลานี้ มีความเหมาะสมที่จะผลักดันการเสริมสร้างความปรองดองแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนลงจากอำนาจว่าอยากอยู่ในสถานะของผู้ร้ายหรือพระเอก

ถ้าจากไปแล้วทิ้งการเมืองให้เป็นแบบเดิมต่อไป หรือจะจากไปแล้วมีคนชื่นชมถึงการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ด้วยการสร้างบรรยากาศของความปรองดองให้กลับคืนมา

ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งก็คือนักการเมืองเองที่มีโอกาสดี ตอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่มีเนื้อหาผลักดันให้ตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ให้ 2 พรรคใหญ่เข้ามาร่วมกันบริหารประเทศ ยุติความขัดแย้ง พูดคุยเรียนรู้กันใหม่แต่สุดท้ายทั้ง 2 พรรคต่างก็ไม่ยอมกัน

พอมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติกลับมาเรียกร้อง สะท้อนว่าทั้ง 2 พรรคประเมินแล้วว่าไม่มีทางที่จะชนะการเลือกตั้งแบบเด็ดขาด เพราะกติกาถูกออกแบบไม่ให้เกิดเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเหมือนที่ผ่านมาได้ จึงออกมาเรียกร้องกัน

แนวทางที่สองพรรคใหญ่ควรคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองคือ พูดคุยกัน ดูกติกาฉบับใหม่แล้วประเมินกันว่าจะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่สร้างกันไว้อย่างไร เลิกยึดความต้องการถือครองอำนาจไว้กับตัวเองฝ่ายเดียว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนที่เป็นฐานเสียงรวมกันกว่า 20 ล้านคน

มิเช่นนั้นก็จะเกิดสิ่งที่ถูกคนต่างรู้ดีคือ ถ้ายังขืนไม่ยอมกันแบบนี้สุดท้ายตาอยู่จะเข้ามากินรวบคนเดียว แล้วจะกินนานกว่าที่เคยมีมา

สมบัติ บุญงามอนงค์

บก.ลายจุด

ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ต้องโทษในคดีที่มีความเห็นขัดแย้ง หรือเห็นต่างในทางการเมืองตามข้อเสนอของทางฝ่ายการเมือง

ถือเป็นการส่งสัญญาณรวมทั้งเพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศให้ดีขึ้น ที่สำคัญคดีความเหล่านี้จะได้ไม่ต้องไปรกศาลเพียงเพราะแค่การวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น หรือการแสดงออกทางการเมืองที่แตกต่างจนเกิดเป็นคดีความขึ้นมา

ดังนั้น ตนเห็นด้วยและสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้มาตรา 44 นิรโทษกรรมให้กับคดีความเหล่านี้ โดยยกเว้นคดีใหญ่ๆ ที่มีความซับซ้อน ที่ควรได้รับฉันทามติจากคนส่วนใหญ่และควรได้เรียนรู้ร่วมกัน เช่น คดีที่ทำให้เกิดผู้เสียชีวิต เป็นต้น

ข้อเสนอดังกล่าวถือว่ามีความเหมาะสมมาก เพราะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทุกสีเสื้อ ที่สำคัญจะช่วยเรื่องของการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จะเห็นด้วยหรือทำตามข้อเสนอดังกล่าวหรือไม่นั้นยอมรับว่าอ่านใจหรือเดาใจพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ออกจริงๆ

อย่างไรก็ตาม หากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ทำตามข้อเสนอดังกล่าว โดยส่วนตัวเห็นว่าก็อาจจะส่งผลกระทบอยู่บ้าง โดยเฉพาะกับการเลือกตั้งช่วงปลายปี 2560 ตามโรดแม็ป เนื่องจากบรรยากาศ ทางการเมืองไม่มีการผ่อนคลาย

จะมีวิธีการใด ที่จะช่วยลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ในชาติ หรือลดอุณหภูมิทางการเมืองได้ ก็ไม่มีแล้วนอกไปจากการนิรโทษกรรมคนเห็นต่างในคดีการเมือง ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องดี หาก พล.อ.ประยุทธ์จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยเริ่มต้นจากจุดนี้ เชื่อว่าจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเครดิตอย่างมาก

แต่หากพล.อ.ประยุทธ์ไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ วันหนึ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ลุกออกจากเก้าอี้นายกฯ ไป ก็จะต้องอยู่ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และที่ผ่านมาท่านเองก็แทบจะไม่มีผลงานอะไรที่จับต้องได้เลย

สมพงษ์ สระกวี

สมาชิก สปท. อดีตส.ว.

เป็นข้อเสนอที่ควรรับฟังอย่างยิ่งเพราะที่ผ่านมาสังคมไทยเกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างคนในชาติ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ทรงแก้ปัญหานี้เป็นแนวทางไว้คือการให้อภัยต่อกัน

จึงเห็นได้ว่าในรัชสมัยของพระองค์มีการนิรโทษกรรม ให้กับผู้ที่มีความผิดที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองหลายครั้ง เช่น การนิรโทษให้กับผู้ที่ชุมนุมเผาสถานีที่ราชการ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา พระองค์ทรงให้อภัยนิรโทษกรรมกับทหารกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาทำการกบฏยึดอำนาจในเหตุการณ์ 26 มี.ค. (กบฏเสธ.หนั่น)

นิรโทษให้กับคณะยังเติร์ก และคณะพล.ต.มนูญกฤต รูปขจร และนิรโทรให้กับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่ออกมาชุมนุมเผาสถานที่ราชการ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองของคนในชาติก็ถือปฏิบัติมาเช่นนี้ตลอด

ณ วันนี้ในวาระที่สำคัญ 2 วาระของชาติ คือวาระที่เราสูญเสียพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และวาระการขึ้นทรงราชย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 โดยประเพณีที่ผ่านมาในวาระสำคัญนี้เป็นวาระที่ทุกคนจะพยายามทำความดีน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย และรัฐบาลควรใช้โอกาสนี้

แม้กระทั่งวันเฉลิมพระชนมพรรษาปกติก็จะเป็นวาระที่อภัยโทษให้กับนักโทษทั่วไป ซึ่งทั้ง 2 วาระนี้ ประชาชนก็คาดหวัง แม้รัฐบาลยังนิ่งเฉยก็ตามก็คาดหวังว่าจะเป็นวาระแห่งการให้อภัย ปรองดอง ความรักสามัคคีเพื่อถวายแด่พระเจ้าอยู่หัว คนที่เคยโกรธกัน แค้นกันต้องเลิก แล้วเริ่มต้นกันใหม่เพื่อสร้างความจงรักภักดีด้วยการกระทำที่เป็นจริง จึงต้องให้อภัยต่อกัน

จึงคิดว่าข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่งดงาม จะเรียกนิรโทษกรรม อภัยโทษ หรือไม่นิรโทษก็แล้วแต่ แต่เห็นว่าเอาเป็นแค่พักโทษก็ได้ ถ้าทำผิดอีกก็ต้องกลับมารับโทษก็ยังได้ ซึ่งเป็นการให้อภัยกันในสถานเบาก็ยังดี

แต่การไม่แสดงออกถึงการใช้ความพยายามเพื่อการสร้างความปรองดองหรือให้อภัยให้เกิดขึ้นในสังคมไทยคือใจดำ ถ้ารัฐบาลไม่คิดเรื่องนี้ก็ใจดำเกินไป

หากมีการนิรโทษกรรมก็ควรจะดำเนินการก่อนการเลือกตั้งซึ่งถูกต้องแล้ว เพราะการเมืองก็ยังต้องมีลักษณะแบ่งข้างอยู่ดี แต่บรรยากาศแห่งการอาฆาตแค้นก็ควรต้องยกเลิกและเบาบางลงไป หากมีการนิรโทษอย่างน้อยเป็นการสร้างบรรยากาศเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะของบ้านเมืองในปัจจุบัน และจะเป็นสิ่งที่ดีเป็นการเริ่มต้นกันใหม่ เป็นการเรียกเอาความรักความสามัคคีกลับคืนมา

อย่างไรก็ตาม แม้นายกฯ รับดำเนินการตามที่เรียกร้องแล้วไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะพลิก แต่เป็นสิ่งที่ต้องชมเชย แต่ถ้าไม่รับข้อเสนอก็แสดงว่าไม่เห็นคุณค่าของการให้อภัย

ก่อนหน้านี้ส่วนตัวเคลื่อนไหวในสปท.ว่าให้มีการนิรโทษกรรมคล้ายกันนี้ ก็ได้รับคำชี้แจงว่านายกฯ จะทำเรื่องนี้อยู่แล้วในปี 2560 จึงเชื่อว่านายกฯ คิดเรื่องนี้อยู่แล้วและต้องการทำเรื่องนี้ให้รอบคอบ สำเร็จเป็นจริง

หากนิรโทษกรรมได้ก่อนการเลือกตั้ง แน่นอนว่าย่อมดีกว่าไม่นิรโทษ และจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแค่การ เลือกตั้ง จะทำให้คนมาทำหากินได้ เกิดความรักความสามัคคี มีเสรีภาพประชาธิปไตย โดยการพักโทษให้ทั้งหมดทุกคดี ที่เกิดขึ้นจากแรงจูงใจทางการเมืองที่เป็นคดีอาญา

หากใช้คำว่านิรโทษเดี๋ยวจะง่ายไป การพักโทษคือหลุดออกจากคดีระยะหนึ่ง เช่น คดียึดสถานที่ราชการ ก็พักโทษ 5 ปี ถ้าไม่มีการทำผิดไปยึดสถานที่ราชการอีกคดีก็หมดไป แต่ถ้าทำผิดก็ต้องกลับมารับโทษ ซึ่งเรื่องการพักโทษนี้ถ้าทำได้ก็จะดี จะได้ไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องนี้อีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน