การโกหกจนเลยเถิดของพ่อค้าลอตเตอรี่ ว่ามีลูกค้าซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจากตนจำนวน 15 ใบผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ แล้วถูกรางวัลที่ 1 เป็นเงินรวม 90 ล้านบาท ทำให้เกิดผลได้รับคำชมอย่างกว้างขวางในช่วงแรกว่าเป็นคนดีของสังคม ซื่อสัตย์สุจริต สุดท้ายแล้วความจริงปรากฏว่าเป็นการลวงแต่งตัวเลขขึ้น

คล้ายกับเมื่อครั้งที่มีแท็กซี่ฮีโร่-ฮีลวงสร้างสถานการณ์โปรโมตตนเอง เมื่อปี 2540 ว่าเป็นคนดีที่ซื่อสัตย์ เก็บเงินคืนชาวต่างชาติ 20 ล้านบาท จนได้รับคำชมอย่างกว้างขวางและมีชื่อเสียงโด่งดัง ก่อนจะถูกตรวจสอบพบว่าเป็นเรื่องไม่จริง

การโกหกแต่งเรื่องเพื่อให้ตนเองเป็นที่ยอมรับทั้งสองกรณี ไม่เพียงเป็นเรื่องของผู้โกหกเท่านั้นยังเป็นปรากฏการณ์สังคมที่น่าศึกษาและเป็นบทเรียน

ปัจจัยที่แตกต่างของสองกรณีนี้คือสื่อ โซเชี่ยลมีเดียซึ่งปัจจุบันมีความรวดเร็วทั้งการกระจายข่าวและตรวจสอบข้อมูล

กรณีพ่อค้าหวยลอตเตอรี่สารภาพว่า ความผิดพลาดมาจากการหยอกล้อเล่นกันในกลุ่ม กระทั่งสะพัดกลายเป็นประเด็นดังในโลกโซเชี่ยล จนมีสื่อมวลชนไปสัมภาษณ์ จึงตอบไหลไปตามน้ำ

เมื่อเรื่องราวของคนดีคนซื่อสัตย์เป็นเรื่องถูกใจผู้คนในโลกโซเชี่ยล จึงทำให้พ่อค้าลอตเตอรี่โด่งดังและได้รับประโยชน์ในการขายลอตเตอรี่อย่างมหาศาล

การได้รับประโยชน์มหาศาลยิ่งดึงให้ตนเองหนีจากโลกข้อเท็จจริงไปสู่โลก ที่เสกสรรค์ปั้นแต่ง

ในโลกความเป็นจริง พ่อค้าแม่ค้าลอตเตอรี่หรือคนขับแท็กซี่ที่มีความซื่อสัตย์นั้นหาได้ทั่วไป เพียงแต่บางครั้งเป็นข่าวและบางครั้งไม่ได้เป็น

เพราะความซื่อสัตย์นั้นเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานที่สุจริตชนทุกคนควรมี แต่หากสังคมจะยกย่องใครขึ้นมาเป็นตัวอย่างบ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย

เพียงแต่คนในสังคมต้องไม่ลุ่มหลงและ ยึดติดกับความดีจนถึงขั้นต้องนำเสนอหรือ จัดฉากขึ้น

ไม่เช่นนั้นจะเกิดกรณีที่มีผู้อ้างตัวเป็นคนดีแล้วทำตัวเหนือผู้อื่น ควบคุมหรือยึดสิทธิของผู้อื่น ไหลไปตามน้ำอย่างไม่ยอมจบสิ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน