ทุกเสียงมีความหมาย

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ทุกเสียงมีความหมาย น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ยอดการลงทะเบียนผู้แสดงความประสงค์ขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และในเขตเลือกตั้ง รวมถึงนอกราชอาณาจักร นับตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.จนถึงเวลา 00.00 น. วันที่ 19 ก.พ. มีเป็นจำนวนมาก

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่เพียงยอดลงทะเบียนของผู้ขอใช้สิทธินอกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศจะมีสูงมาก

ขณะที่นอกราชอาณาจักรนั้น มีผู้ลงทะเบียนใน 67 ประเทศ 94 สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่

เป็นความตื่นตัวแสดงเจตจำนงต้องการเลือกตั้งอย่างแท้จริง

การเลือกตั้งเป็นการทั่วไป หรือเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง หลังจากประกาศวันเลือกตั้ง บรรยากาศทั่วไปพบว่าประชาชนมีความตื่นตัว ที่จะรักษาสิทธิในการกำหนดอนาคตของประเทศอย่างคึกคัก และแน่วแน่

ที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเห็นได้จากการเปิดปราศรัยและ การพบปะประชาชนของพรรคการเมืองในแต่ละจังหวัดได้รับการตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ฮึกเหิม และอยากมีส่วนร่วม

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ประเทศไทยว่างเว้น ไม่มีการเลือกตั้งมาตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 สาเหตุจากการขัดขวางการเลือกตั้งของกลุ่มผู้ชุมนุม และลงเอยนำไปสู่รัฐประหาร

จากนั้นมีการประวิงเวลา ขอเวลา ทอดเวลา ใช้เวลาเกือบ 5 ปี

ที่น่ายินดีอย่างยิ่ง และมีความหวังว่าจะเป็นคุณต่อระบอบประชาธิปไตยต่อไปในอนาคต ก็คงความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนที่จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก

เป็นกลุ่มประชากรที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ และกลุ่มประชากรอายุ 22 ปีที่พลาดหวังจากการเลือกตั้งในช่วงรัฐบาลอำนาจพิเศษ ซึ่งมีเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

จนทำให้กลุ่มที่ชอบอำนาจในระบบรัฐประหาร พากันหวั่นไหว ไม่สบายใจ หวาดวิตก แสดงปฏิกิริยาอย่างรุนแรงต่อกระแสการตื่นตัวของ คนรุ่นใหม่

ทุกเสียงทุกสิทธิคงต้องร่วมกันแสดงออกให้เต็มที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งมีพรรคการเมืองที่มีจุดยืนต่างกันชัดเจนแบ่งเป็น 2 แนวทางให้ประชาชนตัดสินใจเลือก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน