พานการเมือง : บทบรรณาธิการ

พานการเมือง – โซเชี่ยลมีเดียเป็นสื่อที่ทำให้เรื่องภายในหรือ เรื่องส่วนตัวขยายวงออกไปกว้างขึ้น เป็นที่รับรู้ของผู้คนและสังคมที่กว้างขึ้น อีกทั้งก่อให้เกิดการถกเถียง แสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ มากขึ้น

พานไหว้ครู ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การแสดงความเคารพของศิษย์ต่ออาจารย์แต่ละโรงเรียน จึงปรากฏเป็นกระแสทางสังคมในโลกออนไลน์จนเป็นหัวข้อข่าวทางสื่อกระแสหลัก

โดยเฉพาะเมื่อเป็นประเด็นล้อการเมือง คล้ายกับการแสดงออกของนิสิตนักศึกษาในขบวนพาเหรดงานฟุตบอลประเพณี

เช่นปีนี้มีพานที่เสนอเป็นรูปรถถัง รัฐธรรมนูญ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นาฬิกา เรือดำน้ำ หีบเลือกตั้ง ชูสามนิ้ว ฯลฯ เป็นต้น

แต่เดิมพิธีไหว้ครูเป็นเรื่องภายในของแต่ละ โรงเรียน พานไหว้ครูโดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายกัน ใช้สัญลักษณ์ ดอกเข็ม หญ้าแพรก มะเขือ ดอกบานไม่รู้โรย ฯลฯ นำเสนอในประเด็นเดียวกัน

ต่อมาเมื่อมีการประกวดพานไหว้ครู นักเรียนจึงพยายามแสดงความคิดสร้างสรรค์หรือฝีมือการประดิษฐ์และออกแบบที่สวยงาม

รวมทั้งนำเสนอตามหัวข้อการประกวด เช่น อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือสะท้อนกระแสฮิตทางสังคม

ดังนั้นพานไหว้ครูที่ศิษย์ต้องการแสดงความเคารพและขอบคุณครูอาจารย์ที่สอนให้พวกเขารู้จักคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ จึงมีมานานแล้ว

พานการเมือง

กระทั่งเป็นประเด็นร้อน เมื่อเป็นประเด็นการเมืองที่มีการเผยแพร่ทางสื่อโซเชี่ยล

ปฏิกิริยาของผู้คนต่อกระแสพานไหว้ครูล้อการเมืองของเด็กครั้งนี้ แตกต่างกันไป ทั้งแบบอนุรักษนิยม และแนวก้าวหน้า

ประเด็นที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงหลัก คือความเชื่อที่ว่ามีคนอยู่เบื้องหลังกระแสนี้ เพราะเด็กคงคิดไม่ได้ถึงขนาดนี้ ถึงขนาดที่ว่าเด็กกำลังถูกล้างสมอง

ทั้งที่นักเรียนระบุว่า เพียงต้องการแสดงให้เห็นถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

กรณีดังกล่าวสะท้อนว่า การแช่แข็งประเทศอาจส่งผลต่อการแช่แข็งทางความคิดของคนกลุ่มหนึ่งที่ไปไม่ทันคนอีกกลุ่มหนึ่ง

และน่าสังเกตว่า ช่องว่างนี้อาจห่างกันออกไปเรื่อยๆ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน