คอลัมน์ รายงานพิเศษ

จากการที่รัฐบาลสั่งให้กรมสรรพากรเก็บภาษีเงินได้ราว 1.6 หมื่นล้านบาท จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรณีขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก สิงคดปร์ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2549 ก่อนคดีขาดอายุความในวันที่ 31 มี.ค.2560

กรณีนี้มีการถกเถียงข้อกฎหมายกันหลายแง่มุม จึงขอย้อนรอยภาษีหุ้นชินคอร์ปและความเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

การจัดเก็บภาษีกรณีการขายหุ้นชินคอร์ป แยกเม็ดเงินออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกที่ขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท วงเงิน 6.9 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้ไม่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย แต่ภายหลังถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งยึดทรัพย์บางส่วนกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท

ส่วนที่ 2 เป็นประเด็นที่เป็นปัญหา เกิดจากนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรนายทักษิณ นำหุ้นชินคอร์ปที่ซื้อมาจากบริษัทแอมเพิลริช 329.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท แล้วนำมาขายต่อให้เทมาเส็กในราคาหุ้นละ 49.25 บาท เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2549 ซึ่งถือเป็นการขายนอกตลาดหลักทรัพย์ที่ต้อง เสียภาษีรายได้พึงประเมิน

ล่าสุด สตง. ทำหนังสือแจ้งเตือนกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปให้เรียบร้อยก่อนคดีขาดอายุความในวันที่ 31 มี.ค.2560

โดยใช้มาตรา 61 ของประมวลรัษฎากร ที่ระบุว่าภายใน 10 ปี ถ้าปรากฏหลักฐานแน่ชัด กรมสรรพากรใช้อำนาจประเมินภาษีได้ทันที แล้วให้เริ่มนับหนึ่งใหม่ไปอีก 10 ปี

แต่เกิดประเด็นคำถามตามมาว่าในที่สุดแล้ว กรมสรรพากร จะเรียกเก็บภาษีได้หรือไม่

นายพานทองแท้ มีความเห็นว่า การจะพิจารณาดำเนินการเอาผิดสามารถกระทำได้ใน 2 กรณี ทางใดทางหนึ่งเท่านั้น กรณีที่ 1 ถ้าการที่คุณพ่อขายหุ้นให้กับตนเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ศาลพิจารณาว่าเป็นการซื้อ-ขายจริง เท่ากับว่าหุ้นนั้นตกเป็นของตนแล้ว ตนซื้อมาที่ราคาต่ำ ขายไปราคาสูงกว่า

เมื่อตนมีกำไรจากการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ หากจะฟ้องร้องเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นในครั้งนั้น ก็น่าจะพอรับฟังได้ เพราะศาลได้ชี้ว่ามีการซื้อ-ขายกันจริง แต่หากการพิจารณาออกมาในแนวทางนี้ จะถือว่าหุ้นดังกล่าวเป็นของตน ไม่ใช่ของพ่อ กรณีดังกล่าวจะยึดทรัพย์คุณพ่อ 4.6 หมื่นล้านบาทไม่ได้ ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะศาลได้ตัดสินยึดทรัพย์คุณพ่อไปเรียบร้อยแล้ว

กรณีที่ 2 คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ที่ศาลพิจารณาว่าคุณพ่อไม่ได้ขายหุ้นนั้นให้กับตน และตีความว่าหุ้นดังกล่าวยังคงเป็นของคุณพ่ออยู่ ศาลจึงได้ตัดสินให้ยึดเงินจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทไป แสดงให้เห็นว่า ในแนวทางการวินิจฉัยนั้น สรุปว่ามิได้มีการซื้อขายที่เป็นมูลเหตุให้ต้องเสียภาษีเลย ทรัพย์สินก็ถูกยึดไปตามจำนวนที่ศาลได้พิจารณาว่าเหมาะสมในการเอาผิดแล้ว

อยู่ๆ มาวันนี้ รัฐบาลยังต้องการเอาอะไรจากครอบครัวผมอีก

ต่อมานายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง ย้อนอดีตว่า เมื่อ 2 มี.ค.2555 อธิบดีสรรพากรสั่งยุติการเก็บภาษี โดยอ้างว่าเป็นการซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ ทำไม สตง. หรือกระทรวงการคลัง ถึงไม่ได้ทักท้วง ทั้งที่คำสั่งของอธิบดีนั้นขัดกับข้อสังเกตโดยกระทรวงคลังเองก่อนหน้านั้นว่า กรมสรรพากรควรต้องเก็บภาษีจากเจ้าของบัญชีจริง

หากทักท้วงแต่ตอนนั้นก็จะไม่มีปัญหาเรื่องอายุความการออกหมายเรียกเก็บภาษีดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้

แต่วันนี้มีการตีความด้วยช่องกฎหมายนอมินีว่า การที่เคยเรียกเก็บจากนายพานทองแท้-น.ส.พินทองทา ก็เสมือนเป็นการเรียกเก็บจากนายทักษิณ ไม่ต้องเรียกใหม่

“ตามตรรกะผมว่าถูกต้อง และหวังว่าตามหลักกฎหมายจะ ถูกต้องด้วย แต่ผมเข้าใจว่า กรมสรรพากรไม่เคยใช้กฎหมายแนวนี้มาก่อน ทั้งหมดต้องไปสู้กันในชั้นศาลอีกรอบ ผลจะออกมาอย่างไรต้องติดตาม” นายกรณ์ ระบุ

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ระบุว่า จากคำพิพากษาศาลฎีกาแผนก คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อต้นปี 2553 ในส่วนที่ว่าข้าราชการกระทรวงการคลังเคยตอบข้อหารือในปี 2548 ว่าการกระทำเช่นนี้ คือซื้อหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ในราคาถูกแล้วไปขายในตลาดหลักทรัพย์ในราคาแพงกว่าหลายเท่า ไม่เกิดภาระภาษี ขึ้นนั้น

ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกข้าราชการกลุ่มนั้นแล้วเมื่อปี 2559 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการประเมินเพื่อเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณ ให้เสร็จทันก่อนวันหมดอายุความวันที่ 31 มี.ค. 2560

เราเป็นข้าราชการ การที่จะทำอะไร ต้องยึดตามกฎหมาย และรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งจะประเมินภาษีเท่าไรยังบอกไม่ได้

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสตง. ระบุว่า ตัวเลขเบื้องต้นตามที่ปรากฏจำนวน 1.6 หมื่นล้านบาทนั้น ยังไม่รวมเงินเพิ่ม หรือดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ หากผู้เสียภาษีมาจ่ายช้าจะทำให้เสียดอกเบี้ยและเบี้ยปรับมากขึ้น ตามระยะเวลาที่ไม่มาเสียภาษี ยิ่งเสียช้าจำนวนภาษีบวกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับก็ยิ่งเยอะตามมากขึ้นแน่นอน

เชื่อว่ากรมสรรพากรจะมีเจ้าหน้าที่ใจกล้าที่ดำเนินการประเมิน หากไม่มี อธิบดีกรมสรรพากรก็ต้องประเมินเอง

ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายขั้นตอนชัดๆ ว่า

กรมสรรพากรจะไปประเมินภาษีให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค.2560 ยังไม่ใช่การฟ้องร้อง การประเมินคือต้องแจ้งให้ นายทักษิณทราบว่าจะต้องมาชำระภาษีจำนวนเท่านั้นเท่านี้บาท แต่ถ้าไม่ชำระจะต้องเสียเงินเพิ่มหรือเสียค่าปรับ

เมื่อประเมินเสร็จแล้วจะต้องส่งเรื่องแจ้งให้เจ้าตัวทราบ ซึ่ง เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อครบกำหนดวันที่ 31 มี.ค.แล้วก็หยุดลง จากนั้นเริ่มนับหนึ่งใหม่ไปอีก 10 ปี

ในระหว่าง 10 ปีนั้นถ้ามีการฟ้องร้องสามารถหยุดลงแล้วเริ่มนับหนึ่งใหม่ได้อีก

และเมื่อแจ้งประเมินไปแล้วนายทักษิณ มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คำประเมินได้ภายใน 30 วัน หากศาลตัดสินแล้วยังไม่พอใจก็สามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้อีก ถึงแม้ว่านายทักษิณไม่ได้อยู่ในประเทศก็สามารถตั้งทนายมายื่นอุทธรณ์ได้โดยที่เจ้าตัวไม่ต้องมายื่นเอง เป็นกระบวนการยุติธรรมตามปกติ

กว่าจะถึงขั้นตอนการฟ้องคงอีกนาน ต้องประเมิน อุทธรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาตามขั้นตอนกฎหมาย โดยทุกคดีที่มีการประเมินแล้วนับหนึ่งใหม่จะต้องหยุด ซึ่งนักกฎหมายรู้ดีว่าคำว่าอายุความสะดุดหยุดอยู่ หรือสะดุดหยุดลงแปลว่าอะไร

เช่น ถ้ามีการยืมเงิน แต่ถึงกำหนดไม่มีการใช้คืน ผู้ให้กู้มีสิทธิ์ฟ้องอายุความ 10 ปี แต่เมื่อถึงเวลา 9 ปี 8 เดือน มีการทวงโดยผู้ให้กู้มีจดหมายไปถามว่าจะชดใช้เมื่อไหร่ แต่ลูกหนี้ตอบกลับมาว่าทราบแล้ว แต่เวลานี้ยังไม่มีเงินคืน ถ้ามีเมื่อไหร่จะนำไปคืน เพียงเท่านี้อายุความจะนับหนึ่งใหม่อีก 10 ปี ตรงนี้เรียกว่ารับสภาพหนี้ หลักดังกล่าวมีอยู่ทั่วไปในกฎหมาย

“เรื่องอายุความไม่ใช่เรื่องอภินิหาร แต่เป็นเรื่องที่หาช่องทางได้โดยไม่เกี่ยวกับเงื่อนเวลา ที่ผมพูดว่าอภินิหารเป็นการพูดให้ เท่ๆ ไป เหมือนกับคำว่าอภิมหาอมตะนิรันดร์กาล หรือมหัศจรรย์ แห่งรักที่ฟังแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร”

นายวิษณุ บอกอีกว่า การดำเนินการเรียกเก็บภาษีครั้งนี้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายประมวลรัษฎากร มาตรา 19, 20, 21, 22 และ 61 ซึ่งเป็นมาตราตามปกติที่ใช้ทวงภาษี

ก่อนหน้านี้ที่ดูเหมือนว่าขั้นตอนเดินต่อไปไม่ได้ แต่ยังมีช่องทางที่น่าเสี่ยง โดยจะไม่ใช้คำพูดว่ามั่นใจหรือไม่มั่นใจว่าจะเรียกเก็บได้ แต่ใช้คำว่าได้ทำตามกระบวนการประเมินและเป็นเพราะสังคมกำลังจับตามมองในเรื่องนี้ จึงต้องทำทุกอย่างให้ละเอียดรอบคอบ

ผมได้อธิบายให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ฟังว่าถ้าเรื่องนี้ดำหรือขาวเราจะไม่ทำสิ่งที่ดำ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องสีเทาๆ ซึ่งกรมสรรพากร ก็ตอบไม่ได้ว่าสิ่งที่คิดนั้นถูกหรือผิด สิ่งที่ไม่เคยทำเพราะปกปิดเรื่อง มันถูกหรือผิด ดังนั้นไม่ควรมานั่งตีความเอง ควรให้ศาล ตีความเพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐาน เพราะเรื่องแบบนี้คงเกิดขึ้นอีก

ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงว่า เกี่ยวพันกับใครอย่างไรบ้างและหากพบความผิดก็นำไปสู่การสอบวินัย แต่ถ้าเป็นคนที่เกษียณไปแล้วคงดำเนินการอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเข้าข่ายผิดมูลคดีอาญาก็มีอายุความ

นอกจากนี้ ยังสอบในประเด็นที่ผ่านมาทำไมจึงไม่มีการประเมิน ซึ่งเขาคงใช้เวลาอีกสักนิดสอบย้อนไปตั้งแต่ปี 2550-55 ดูทุกยุค ทุกสมัย ซึ่งกรมสรรพากรเขามีเหตุผลในการที่ไม่ดำเนินการอยู่ 3 ข้อ แต่ผมขอไม่อธิบาย

นอกจากกระบวนการเรียกเก็บภาษีของกรมสรรพากรแล้วก็มีการดำเนินการของหน่วยงานอื่นที่ทำควบคู่ไปด้วย เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางว่าให้ดูเจตนาของการซื้อขายหุ้นว่าสุจริตหรือไม่ ถ้าตรวจสอบแล้ว พบว่าสุจริต ทุกอย่างก็จบ ไม่ต้องทำอะไรต่อ หากไม่สุจริตก็ต้องดำเนินการ

เพราะประชาชนและสังคมเรียกร้องอยู่ว่าในเมื่อไม่สุจริตแล้ว จะปล่อยให้เขาไม่ชำระภาษีได้อย่างไร

แต่คำตอบเรื่องสุจริตหรือไม่สุจริตนั้นยุติลงเมื่อไปดูคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งวินิจฉัยไว้ว่าเรื่องนี้ไม่สุจริต จึงมีการยึด 4.6 หมื่นล้านนั้นได้ ดังนั้น จึงต้องมีการเสียภาษี

นายวิษณุกล่าวว่า ผมยังถามที่ประชุมครม.ด้วยว่าหากสังคมเกิดคำถามว่ายึดไปแล้ว 4.6 หมื่นล้านแล้วจะเอาอะไรอีก ก็ได้คำตอบเอกฉันท์ว่าเป็นคนละส่วนคนละเรื่องกัน ระหว่างการ กระทำผิดกับการเสียภาษี ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการถือว่ามีความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผิดมาตรา 157

ทรัพย์สินที่ถูกยึดไป 4.6 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากคดีอาญาเรื่องทุจริต ส่วนภาษีเป็นอีกเรื่องหนึ่งโดยการประเมินตัวเลขคิด จากฐานตัวเลขที่สตง.บอกไว้คือ 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนค่าปรับคิดต่างหาก ที่สามารถลดหย่อนได้

การคิดประเมินภาษีในครั้งนี้ คิดจาก 4.6 หมื่นล้านบาทที่ยึดแล้วนั่นเอง เป็นภาษีที่ควรเสียถ้าจะต้องเสีย ซึ่งตรงนี้ต้องแล้วแต่ศาลว่าจะมีความเห็นอย่างไร

ภาษีดังกล่าวเกิดจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ซึ่ง เป็นส่วนต่างที่บริษัทแอมเพิลริชขายมาให้จาก 1 บาท เป็น 49 บาท และช่วงที่นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ขายให้กับ เทมาเส็ก ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าเมื่อมีการขายในตลาดหลักทรัพย์จะต้องเสียภาษีหรือไม่

จึงให้กรมสรรพากรไปพิจารณาว่าจะต้องคิดภาษีทั้งสองช่วงหรือไม่คือ ตอนที่แอมเพิล ริชขายหุ้นให้กับนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา หุ้นละ 1 บาท กับช่วงที่ 2 คือ ตอนที่นายพานทองแท้และน.ส.พินทองทาขายหุ้นให้กับเทมาเส็ก

อย่างไรก็ตามข้อ 2 (23) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 ออกตามความในประมวลรัษฎากรที่บอกว่าไม่ต้องเสีย แต่ตรงนี้ที่มีการพบว่ามีช่องทางที่จะเรียกเก็บได้ซึ่งไม่ขอบอกว่าคือช่องทางอะไร

แต่หากในที่สุดศาลมีคำสั่งให้ต้องจ่ายภาษีกรณีหุ้นชินคอร์ปนี้จะต้องเก็บภาษีที่เจ้าของทรัพย์สิน ยกเว้นแต่จะมีการพิสูจน์ทราบว่ามีการยักย้ายถ่ายเทจำหน่ายจ่ายโอน ซึ่งสามารถนำกลับมาได้ แต่หากทรัพย์สินของนายทักษิณอยู่ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ การจะได้คืนคงเป็นเรื่องยาก

นายวิษณุ ตบท้ายว่า

“ไม่เคยมีบรรทัดฐานในเรื่องนี้เลย เมื่อหาบรรทัดฐานไม่ได้ก็ต้องเอาคดีนี้เป็นบรรทัดฐาน”

จึงต้องติดตามกันต่อไปว่าคดีนี้จะมีบทสรุปอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน