พวงทอง ภวัครพันธุ์ ชําแหละบทบาท‘กอ.รมน.’

พวงทอง ภวัครพันธุ์ ชําแหละบทบาท‘กอ.รมน.’ – หลังการแจ้งจับ 12 แกนนำฝ่ายค้านและนักวิชาการ ที่ร่วมในเวทีเสวนาการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ จ.ปัตตานี

ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทหน้าที่ของ กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อย่างกว้างขวาง

นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาฯ ที่ทำวิจัยบทบาทกอ.รมน. จึงมีข้อมูลเพื่อประโยชน์ต่อการถกเถียง ดังนี้

ที่มาของกอ.รมน.

กอ.รมน.ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2508 เป้าหมายคือการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ โดยการใช้แนวรุกทางการเมือง นอกจากการใช้กำลังทางการทหาร เช่น การจัดตั้งมวลชน การปลูกฝังอุดมการณ์ การพัฒนาชนบท

แต่จะเห็นว่าชื่อเสียงของ กอ.รมน.ในยุคปราบคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะช่วงที่ขบวนการนักศึกษา กรรมกรและชาวนาเข้มแข็ง กอ.รมน.มีชื่อทางการปราบปรามมากกว่าใช้แนวทางทางการเมือง เช่น กรณีถีบลงเขา เผาลงถังแดง เผาหมู่บ้านนาทราย หรือการจัดตั้งมวลชนฝ่ายขวา เป็นภาพลักษณ์กอ.รมน.ช่วงสงครามปราบคอมมิวนิสต์

การเติบโตของกอ.รมน.

เมื่อพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ยกเลิกไป 2543 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย แต่ไม่มีความพยายามยกเลิก กอ.รมน. ยังมีการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลชวน, รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ต่ออายุกอ.รมน.

และขยายอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ไปในเรื่องอื่นๆ เช่น ในสมัยนายชวน ขยายเรื่องการดูแลป่า สมัยนายทักษิณ มีปัญหายาบ้าระบาดก็ออกคำสั่งให้อำนาจ กอ.รมน.มาดูแลเรื่องการปราบยา ฝ่ายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเองก็ไม่ตระหนักว่ากอ.รมน.ถูกใช้เป็นกลไกของกองทัพอย่างไรบ้างในทางการเมือง

โครงสร้าง กอ.รมน.

สมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ย้ายกอ.รมน.มาสังกัดนายกรัฐมนตรี โดยมีนายกฯ เป็นผอ.รมน. จึงเหมือนกับว่า กอ.รมน.เป็นหน่วยงานพลเรือน

แต่จริงๆ โครงสร้างภายในทั้งหมด ตำแหน่งสำคัญมาจากคนในกองทัพ เช่น เลขาธิการ รองผอ.รมน. รวมไปถึงระดับปฏิบัติการ เช่น ผอ.ระดับต่างๆ ล้วนมาจากทหารทั้งสิ้น ฉะนั้น กอ.รมน.ตั้งแต่ยุคก่อตั้งจนถึงปัจจุบันถูกควบคุมโดยกองทัพมาตลอด

การทำงานระหว่างกอ.รมน. กับกองทัพ

ตามหลักการแบ่งงานกันทำ กองทัพไม่มีอำนาจสั่งการหน่วยงานพลเรือน กอ.รมน.คือแขนขาอันหนึ่งของกองทัพ มีทหารเข้าไปกำหนดนโยบาย ได้รับมอบอำนาจมาตั้งแต่ยุคปราบคอมมิวนิสต์ สามารถประสานงานและสั่งการหน่วยงานพลเรือนอื่นๆ ภายใต้ขอบเขตความมั่นคงภายในประเทศ

ในแง่กำลังคน กอ.รมน.ไม่ใหญ่โต แต่สามารถสั่งงานไปที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงสาธารณสุขได้ เครือข่ายในระดับพื้นที่ที่ทำงานให้กับกอ.รมน.ที่สำคัญคือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงมวลชนจัดตั้งในระดับท้องถิ่น

รูปแบบการระดมมวลชนจัดตั้งของกอ.รมน.

ทุกวันนี้กอ.รมน.ยังหาสมาชิกเพิ่ม สมาชิกเก่าก็ยังระดมมา มีการฝึก-อบรมเข้มข้นขึ้น มีโครงการต่างๆที่ฉีดผ่านมวลชนเหล่านี้เหมือนกัน หรือว่าการเพิ่มเงินเดือนให้หลายกลุ่มในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เช่น กลุ่มอาสาสมัครรักษาดินแดน และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน

กลุ่มมวลชนเหล่านี้ถูกเรียกเข้ามารับการอบรมจากกอ.รมน. เรื่องอุดมการณ์ของชาติ ให้เป็นหูเป็นตาหน่วยงานรัฐ คอยจับตาดูการเคลื่อนไหวโลกโซเชี่ยล มีสายข่าวความมั่นคง มีการต่อผ่านไลน์ เฟซบุ๊กเพื่อแจ้งข่าวให้กอ.รมน.ได้

พูดง่ายๆ ประชาชนถูกเปลี่ยนให้เป็นหูเป็นตา มีโครงการที่เรียกว่า โครงการ‘ตาสับปะรด’ สายข่าวความมั่นคงต่างๆ ตอนนี้ยังกระจายเครือข่ายกว้างขวางมาก ลงไประดับนักเรียนด้วย ทั้งระดับมัธยม อาชีวะ ถูกเรียกไปอบรมเพื่อทำงานเหล่านี้ให้กับรัฐ

ตัวเลขคนที่ผ่านมาอบรมเราหาตัวเลขที่นิ่งไม่ได้ มวลชนกอ.รมน.มี 2 ส่วน ส่วนที่เป็นสมาชิกสังกัดองค์กรชัดเจนยังพอนับได้ เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่พวกที่ได้รับเงินเดือน มีตำแหน่งไม่เพิ่มเท่าไร

อีกส่วนคือคนที่เข้ารับการอบรม ข้อน่าสังเกตหนึ่งคือ ช่วงกำลังเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งและการทำประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ ผบ.ทบ.ขณะนั้นออกมาบอกว่า กอ.รมน.สามารถระดมมวลชนของตัวเองประมาณ 5 แสนคน ให้เข้าร่วมการรณรงค์การทำประชามติได้ด้วย

การปฏิเสธรับการอบรมก็ทำได้ยาก กรณีที่เคยพบคือนักเรียนอาชีวะถูกส่งชื่อให้เข้ารับการอบรมทุกปี สถาบันละประมาณ 100 คน พวกเขาต้องยอมไป หรือบางครั้งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านขอความร่วมมือให้ลูกบ้านเข้าอบรมให้ครบจำนวนที่ทางการขอมา ก็ต้องส่งไปร่วม

หลักสูตรหรืออุดมการณ์ที่ใช้อบรม

การอบรมที่เน้นเรื่องอุดมการณ์หลักของชาติความจริงแล้วเกิดขึ้นเข้มข้นในทุกกลไกของรัฐอยู่แล้ว

แต่การที่กอ.รมน.ลงไปทำคือการเน้นย้ำให้ประชาชนตระหนัก ข้อสำคัญคือการเน้นย้ำให้ประชาชนทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา สอดส่องกันและกัน

ด้านหนึ่งเป็นการปรามไม่ให้มีการเคลื่อนไหวที่แตกต่างไปจากอุดมการณ์ของรัฐ แต่เวลาเป็นหูเป็นตาคือการดูความเคลื่อนไหวของประชาชนในพื้นที่ด้วย เช่น ในพื้นที่เสื้อแดงภาคเหนือ-อีสาน ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่กอ.รมน.ให้ความสำคัญ

หากพบว่ามีการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงช่วงต่างๆ เช่น การขึ้นศาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็กลัวว่าจะมีคนเสื้อแดงมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ กลไกเหล่านี้ก็จะส่งข้อมูลให้กับรัฐ เพื่อหาทางสกัดกั้น

หลายคนที่สัมภาษณ์บอกว่า ถึงเวลาก็จะมีคนโทร.เข้ามาถามว่าจะไปไหน จะทำอะไร ด้านหนึ่งเหมือนการเตือน

งบประมาณของกอ.รมน.

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ที่มีพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร ออกมา งบประมาณของ กอ.รมน.ก็เพิ่มขึ้นตลอด ตอนนี้ประมาณ 1.2 หมื่นล้านต่อปี ไม่ถือว่าเยอะมาก

แต่กอ.รมน.ใช้วิธีประสานงานของบจากหน่วยงานอื่น เช่น หากจัดการอบรมนักเรียน ยกตัวอย่าง เบสต์-อรพิมพ์ รักษาผล พูดอบรมที่มหาสารคาม 3,000 คน ใช้งบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ กอ.รมน.มีหน้าที่เพียงเลือกนักพูดเข้าไป เป็นซอฟต์แวร์ เท่ากับกอ.รมน.ใช้งบกระทรวงศึกษาธิการทางอ้อม

อุดมการณ์อย่างไรที่จะถูกมองเป็นศัตรู กอ.รมน.

อำนาจหน้าที่ของกอ.รมน.ถูกขยายเพิ่มขึ้นจากยุคคอมมิวนิสต์ จากการอ่านเอกสารบอกว่าปัญหาความมั่นคงภายในอันหนึ่งเกิดจากการแตกแยกทางความคิดของคนไทย ซึ่งกว้างมาก เขามองว่าความแตกแยก ความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองกำลังทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงภายใน

แสดงว่าคุณเห็นคนที่คิดต่าง มีแนวทางการเมืองต่างจากคุณ ซึ่งไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ไม่มีกลุ่มไหนที่เสนอว่าสังคมไทยควรเป็นคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม แต่เป็นการต่อสู้ทางประชาธิปไตย

กลุ่มที่มีแนวคิดแตกต่างจากรัฐบาลปัจจุบัน หรือรัฐบาลตั้งแต่การรัฐประหารตั้งแต่ปี 2519 คือการเรียกร้องเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องประชาธิปไตย กลุ่มคนเหล่านี้กำลังถูกมองเป็นฝ่ายสร้างความไม่มั่นคงให้กับชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย

ปัญหาคืออำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน.กว้างมาก แต่ทัศนคติการมองว่าการกระทำอะไรบ้างที่เป็นภัยความมั่นคงนั้นกลับคับแคบมาก

การแจ้งข้อหามาตรา 116 ต่อผู้นำฝ่ายค้าน-นักวิชาการในการเสวนาแก้รัฐธรรมนูญที่ภาคใต้ สะท้อนอะไร

การใช้มาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่นที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคสช.ใช้ข้อหานี้ในการฟ้องร้องจับกุมผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ผู้นำนักศึกษาหลายคน

เขาใช้อำนาจนี้จนลืมไปว่าเราเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยแล้ว สิ่งที่ผู้นำฝ่ายค้านพูดบนเวทีวันนั้นเขาพูดในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย และพูดในฐานะส.ส. พูดถึงนโยบายที่สัญญากับประชาชนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการทำหน้าที่ผู้แทนฯจึงมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำได้อย่างเต็มที่

ขณะที่ กอ.รมน.ก็ออกมาบอกว่าฝ่ายตัวเองก็มีอำนาจหน้าที่เช่นกัน แต่เป็นการมองประเด็นความมั่นคงด้วยสายตาที่คับแคบมาก

การปฏิรูปกอ.รมน. กับการมีอยู่ของกอ.รมน.ในสังคมที่ต้องการประชาธิปไตย

ต้องปฏิรูปแน่ๆ แต่จะปฏิรูปอย่างไรก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมืองพิจารณารูปแบบการปฏิรูปอย่างไร ไทยมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงจำนวนมาก โดยเฉพาะในอดีตมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีบทบาทสำคัญ ขณะนี้สมช.หายไปเลย บทบาททหารนำโด่งขึ้นมาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่คอยกำหนดว่าเรื่องใดบ้างที่กระทบความมั่นคงภายใน

ความมั่นคงภายในเป็นเรื่องที่กว้างมาก เกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ แต่เวลาตีความการกระทำอะไรที่กระทบความมั่นคงกลับคับแคบ และถูกผูกขาดโดยทหารอย่างชัดเจนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ถ้าจะมีการปฏิรูป หน่วยงานหรือกลุ่มคนที่จะเข้าไปกำหนดเรื่องความมั่นคงภายในต้องมีทัศนะที่กว้างไกล ทันโลก คำนึงถึงหลักสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยด้วย ไม่ใช่คิดแบบทหาร ใช้แนวคิดแบบทหารในการจัดการ ไม่เช่นนั้นจะเกิด Counterproductive ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น

ในอนาคตหากฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายพลเรือนมีอำนาจที่เข้มแข็งทางการเมืองมากขึ้น ก็ต้องปฏิรูป กอ.รมน. โดยคำนึงว่าไม่สามารถเอาเรื่องความมั่นคงของชาติไปอยู่ในมือของทหารเพียงลำพัง นี่คือหลักการสำคัญ

บทบาทกอ.รมน.ต่อกระบวนการยุติธรรม

ไม่เห็นว่ามีการเข้าไปแทรกแซงศาลโดยตรง แต่ช่วงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เปิดช่องให้กอ.รมน.เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการไต่สวนของตำรวจได้ด้วย ซึ่งเป็นการใช้อำนาจทับซ้อน หลายกรณีกอ.รมน.เป็นผู้แจ้งข้อหา คนที่ฟ้องร้องไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการยุติธรรม

อำนาจของกอ.รมน.ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

กอ.รมน.มีอำนาจสูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการประกาศ กฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะมีอำนาจเพิ่มขึ้นมาก ข้อสำคัญคือ การฟ้องร้องผู้นำฝ่ายค้านและนักวิชาการ คิดว่าสุดท้ายแล้วคนเหล่านี้อาจถูกนำขึ้นศาลทหารเพราะอยู่ในพื้นที่กฎอัยการศึก

ปัญหาอีกข้อคือในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ามีบทบาทสูงมาก และเมื่อพูดถึงพื้นที่จังหวัดเชื่อว่าผู้ว่าฯ มีอำนาจสูงสุด แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่

มองในกรอบความมั่นคงภายใน ‘แม่ทัพภาค’คือคนที่มีอำนาจสูงที่สุด เพราะคือผอ.รมน. ระดับภาค ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผอ.รมน.ระดับจังหวัด คือผู้ว่าฯ

หมายความว่า ผู้ว่าฯอยู่ใต้แม่ทัพภาค คือ ข้าราชการพลเรือน เข้าไปอยู่ภายใต้ข้าราชการทหาร ในกรณีที่เกี่ยวกับความมั่นคงภายใน

โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจะไม่ค่อยได้ยินเสียงผู้ว่าฯ แต่จะเห็นบทบาทของแม่ทัพภาคแทน

กอ.รมน.ถูกเรียกรัฐบาลน้อย และเสียงวิจารณ์ถ่ายโอน อำนาจจากคสช.

ไม่แน่ใจว่าถ่ายโอนอย่างไร อำนาจกอ.รมน.เยอะมากอยู่แล้วภายใต้พ.ร.บ.มั่นคง 2551 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชื่นชอบกอ.รมน.มาก สมัยเป็นผบ.ทบ.ก็เป็นรองผอ.รมน. มาเป็นนายกฯก็เรียกใช้งานกอ.รมน.เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำแผนปรองดอง แผนปฏิรูป และคงใช้งานต่อไป รวมถึงการฟ้องร้อง จับกุม การติดตามความเคลื่อนไหวฝ่ายเห็นต่าง

สังคมไทยปัจจุบันเหมือนอยู่ในยุค 1984 ในระดับท้องถิ่นมี เครือข่ายที่เฝ้าระวังจับตามอง ในพื้นที่โซเชี่ยลมีเดียก็มีคนที่ถูกฝึกมาให้คอยดูซึ่งไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยังมีมวลชนจัดตั้งด้วย เราอยู่ในยุคที่ถูกจับตามองโดยรัฐมากยิ่งขึ้น ประชาชนก็ต้องระวัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน