ส.ว.กับการแก้ไขรธน.

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การตั้งกรรมาธิการชุดศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละพรรคต้องผลักดันให้เกิดขึ้น

แม้จะมีวุฒิสมาชิกบางคนที่เริ่มแสดงท่าที และออกอาการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปีพ.ศ.2560 อาจเพราะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ และไม่อยากเสียประโยชน์นั้น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องจริต แต่เป็นภาระหน้าที่ของส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง

พรรคการเมืองหลายพรรคให้สัญญาไว้กับประชาชนตั้งแต่ช่วงหาเสียง และได้รับประโยชน์จากสัญญาดังกล่าว บางพรรคใช้เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลและได้รับการตอบสนอง

ณ วันนี้ทุกคนทราบดีถึงที่มาและที่ไปของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อีกทั้งยังรับรู้ผลกระทบ ผลข้างเคียงแล้ว

ความเคลื่อนไหวช่วงตั้งต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจเป็นหัวข้อเรื่องบุคคลที่เหมาะสมเป็นประธานคณะกรรมาธิการ

แต่ปัญหาที่อาจกลายมาเป็นอุปสรรคใหญ่ ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือท่าทีและความคิดของส.ว.

บุคคลที่ดำรงตำแหน่งส.ว.ทั้งหมด 250 คน ในขณะนี้ล้วนไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่เชื่อมโยง ใดๆ กับประชาชน แต่กลับมีอำนาจที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แม้หลายคนเข้าใจบทบาทหน้าที่อย่างประมาณตนในการช่วยกลั่นกรองกฎหมาย

แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการสำคัญตนผิด ถึงขั้นอ้างเสียงประชาชนว่าไม่ได้ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สําหรับส.ส. ขั้นตอนการขับเคลื่อนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นโจทย์ที่ต้องคิดหาวิธีดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด

ไม่เฉพาะกับฝ่ายค้านที่พรรคแกนนำได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดจากการเลือกตั้งมีนาคม 2562 หากยังรวมพรรคแกนนำรัฐบาลที่มีจำนวนส.ส.รองลงมา และพรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งหมด

การตั้งเป้าหมายการแก้ไข นอกจากสนับสนุนประชาธิปไตยแล้ว ยังควรต้องออกแบบให้รัฐธรรมนูญสกัดกั้นการรัฐประหาร ไม่ถูกอ้างใช้เป็นทางออกไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น

แนวทางเหล่านี้เป็นเรื่องที่ส.ว.ควรเข้าใจ ควรละเว้นประโยชน์ของตนเองและหมู่คณะ และหลีกเลี่ยงการเพิ่มความขัดแย้งในสังคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน