เศรษฐกิจ 2563

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เศรษฐกิจ 2563 : บทบรรณาธิการ – สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 3 ปี 2562 พบว่าการจ้างงานลดลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การหดตัวของการส่งออก รวมถึงภัยธรรมชาติ

สาขาที่จ้างงานลดลงที่เห็นได้ชัด ได้แก่ สาขาการผลิต การขายส่ง-ขายปลีก การก่อสร้าง ส่วนสาขาการจ้างงานภาคเกษตรก็ลดลงจาก 12.8 ล้านคนมาอยู่ที่ 12.6 ล้านคน

แต่ก็ยังดีที่สาขาการบริการ การขนส่งสินค้าที่ขยายตัวเพิ่ม ตามการขยายตัวของการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมทุกสาขา อยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก

โรงงานหลายแห่งทยอยปิดตัวลง เลิกกิจการ และเลิกจ้างเพิ่มขึ้น

สําหรับสถานการณ์การว่างงานในไตรมาสที่ 3 นั้น พบสถิติเพิ่มขึ้น 5.5 เปอร์เซ็นต์ มียอดรวมทั้งสิ้น 3.94 แสนคน สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม ที่มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนจากการว่างงานเพิ่มขึ้น

เมื่อจำแนกไปที่ระดับการศึกษา พบว่าผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราว่างงานสูงสุด รองลงมาเป็นผู้จบอาชีวศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย ประถมศึกษา และต่ำกว่านั้น

ขณะเดียวกัน ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้นสะสมต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 มูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวถึง 5.8 เปอร์เซ็นต์ โดยพบว่าหนี้ครัวเรือนที่มาจากสถาบันรับฝากเงินชะลอตัว แต่หนี้จากสถาบันการเงินอื่นยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อยู่ในเกณฑ์ต้องเฝ้าระวังยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

สําหรับแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2563 นั้น เกือบทุกฝ่ายประเมินในทิศทางเดียวกันว่าจะซบเซาอย่างหนักจนอาจถึงขั้นวิกฤต เพราะปัจจัยทุกด้านบ่งชี้ว่าไม่ส่งผลในทางบวก

ทั้งผลกระทบจากสงครามการค้า การส่งออกที่ลดลง การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้า การบริโภคมีแนวโน้มชะลอตัว และการจ้างงานลดลง โดยเฉพาะภาคการผลิตเพื่อการส่งออก รวมถึงแรงกดดันจากหนี้ภาคครัวเรือน

ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะทุ่มงบประมาณลงไปเป็นจำนวนมาก หวังกระตุ้นและฟื้นฟู แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่กระเตื้องอะไรเลย ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นที่ลดลงไปเรื่อยๆ

ขณะที่มาตรการต่างๆ ทั้งรับมือและอัดฉีดยังไม่ชัดเจน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน