FootNote : รับ และรุก ทาง “การเมือง” สถานการณ์ 6 ปี รัฐประหาร

ไม่ว่าปฏิบัติการแสดง “ป้ายผ้า” ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ไม่ว่าการสกัดขัดขวางของ “เจ้าหน้าที่” อันตามมาอย่างฉับพลันทันใด
ล้วนดำเนินไปเท่ากับเป็นการแสดงออกในเชิง “สัญลักษณ์” ในทาง “การเมือง”
1 เป็นสัญลักษณ์ของการไม่เห็นด้วย ของความไม่พอใจ
ขณะเดียวกัน 1 เป็นสัญลักษณ์ว่า “อำนาจ” อยู่ในมือของผู้ใด และอำนาจนั้นก็ไม่ต้องการให้มีการแสดงออกทางการเมืองใดๆทั้งสิ้น
เหมือนกับจะสะท้อนให้เห็นอำนาจของพรก.ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอันประกาศและบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2563
แต่แท้จริงแล้วนี่คืออำนาจอย่างเดียวกันกับที่ได้มาจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เมื่อ 6 ปีก่อน
เป็นอำนาจอันเป็นตัวแทนแห่ง “อ-ประชาธิปไตย”

การเข้าสกัดขัดขวางต่อการปรากฏขึ้นของ “ป้ายผ้า” อันเป็นปฏิกิริยาในทางการเมือง จึงเท่ากับ “อำนาจรัฐ” ได้ดำเนินไปตามเป้าหมายของผู้ประท้วงโดยอัตโนมัติ
ด้วยความจำเป็นในฐานะที่เป็นผู้กุม “อำนาจรัฐ” ด้วยความจำเป็นในนามแห่ง “กฎหมาย”
แม้กฎหมายอันสะท้อนผ่านพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2548 จะขัดต่อสิทธิและเสรีภาพซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
แม้ในทางเป็นจริงประเทศได้พัฒนาและก้าวเข้าสู่รูปแบบที่เรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นจากการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เมื่อ 1 ปีก่อน
ภาพของการสกัดขัดขวาง “ปฏิกิริยา” ที่มีต่อรัฐประหารเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2557 ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่อง แบบจึงเท่ากับเป็นรูปธรรมและคำตอบ
คำตอบถึงสภาพความเป็นจริงของอำนาจรัฐ “ไทย” ในเดือนพฤษภาคม 2563

สภาพการณ์อันปรากฏขึ้น ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ณ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ณ บริเวณหน้าหอศิลป์ กทม. และที่จังหวัดขอนแก่น
เหมือนกับว่ารัฐบาลอาศัยพรก.การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นเครื่องมือ “รุก”
แต่ภายในการรุกอย่างเป็นฝ่ายกระทำกลับกลายเป็นว่ารัฐบาลตกอยู่ในสถานะแห่ง “การตั้งรับ”

_________________________________________________

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน