คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การอนุมัติโครงสร้างพื้นฐานในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2560 ทำให้โครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว

ทั้งหมดนี้จะให้เอกชนร่วมลงทุน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 และโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3

รวมวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 7 แสนล้านบาท และมีเป้าหมายการลงทุนของเอกชนสูงกว่า 5 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2560

หากบรรลุเป้าหมายตามนี้ จะเป็นการลงทุนโดยเฉลี่ย 1 แสนล้านบาทต่อปี

ความคาดหวังจากการลงทุนภาคเอกชนปี 2560 ที่เพิ่งปรับประมาณการเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับการลงทุนภาครัฐอยู่ที่ร้อยละ 7.7 ถือเป็นตัวเลขที่ดูไม่เฟื่องฟูมากนัก

แม้ว่าตามแผนงานของคณะกรรมการอีอีซี จะมุ่งเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น จีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่น้อยกว่า 30 บริษัท แต่ปฏิกิริยาของเอกชนในประเทศเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูด

โครงการที่จะมีเงินลงทุนสูงถึง 7 แสนล้านบาทแน่นอนว่าจะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ย่อมมาควบคู่กันคือผลกระทบด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ต้องรับมือให้เกิดผลด้านลบน้อยที่สุด

การเอื้อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับคนในประเทศ จึงเป็นความคาดหมายใหญ่

การลงทุนอีอีซีเป็นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ริเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนๆ จนเริ่มมองเห็นภาพที่ชัดเจนในโครงสร้างพื้นฐานทั้ง ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

แต่สิ่งที่ยังไม่ปรากฏชัดคือผังเมืองที่จะเป็นตัวกำหนดการพัฒนาชุมชนรองรับการเจริญเติบโตอย่างมีทิศทาง

หลังจากกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมแสดงบทบาทในเรื่องอีอีซีแล้ว ภารกิจที่คาดหมายอย่างชัดเจนและขาดไม่ได้ย่อมเป็น กระทรวงมหาดไทย

เพราะเป็นหน่วยงานที่ต้องเกี่ยวโยงกับประชาชนในภูมิภาคต่างๆ โดยตรง และต้องดูแลงานเรื่องผังเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน