คำประกาศจากมติที่ประชุมผบ.เหล่าทัพ ณ กองบัญชาการกอง ทัพบก เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ว่า

“กองทัพจะยังคงดำเนินการตามปกติ

ทั้งการสนับสนุนรัฐบาลและเป็นเครื่องมือให้กับคสช.”

จะเป็นเรื่องปกติและธรรมดาอย่างยิ่งในทางการเมืองและในทางการปกครอง

บนหลักการและเหตุผลที่ว่า”ทุกอย่างมีกฎหมายและพรบ.รวมถึงขั้นตอนการดำเนินการอยู่แล้ว”

กระนั้น เมื่อเกิดขึ้นในวันที่ 10 มกราคม ก็ละเอียดอ่อน

ละเอียดอ่อนจากท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยืนยันสถานะแห่งความเป็น “นักการเมือง”

ความละเอียดอ่อนอยู่ตรงนี้

อยู่ตรงที่ไม่เพียงแต่เป็นการรับรองต่อสถานะแห่งความเป็น”นักการเมือง”ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ยังสัมพันธ์กับสถานะของ”คสช.”

เพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้ดำรงสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือ”หัวหน้ารัฐบาล”เท่านั้น

หากแต่สถานะแห่ง”นายกรัฐมนตรี”มาจากสถานะแห่งความเป็น “หัวหน้าคสช.”

อันได้มาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

เมื่อการดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือความเป็นการเมือง คือความเป็น”นักการเมือง” การดำรงอยู่ของคสช.จะมีความเป็นการเมือง

เป็น”พรรคการเมือง” คือ “พรรคคสช.”หรือไม่

ไม่จำเป็นต้องนึกถึงพรรคเสรีมนังคศิลาที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้า พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการ

ไม่จำเป็นต้องนึกถึงพรรคสหประชาไทยที่มี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้า พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการ

ขอให้นึกถึงการทำ”ประชามติ”เมือ่เดือนสิงหาคม 2559

เพราะบทบาทของกองทัพ บทบาทของกอ.รมน.ได้เข้าไปมีส่วนในการผลักดันและสกัดฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มพิกัด

ไม่ว่าจะเป็นการสนธิกำลังพลเรือน ตำรวจและทหาร ประสานเข้ามาเป็นหนึ่งเดียว

เดือนพฤศจิกายน 2561 จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน