วิกฤตโควิด หมอจิตเวช คาดไวรัสจบ ยอดคิดสั้นกระฉูดอีก คนเครียด ตกงาน เป็นหนี้ ไวรัสฉุดเศรษฐกิจพังราบ หมอเผยสถิติคนปิดชีวิตรุนแรงเกือบเท่า วิกฤตต้มยำกุ้ง

วิกฤตโควิด “พญ.ดุจฤดี อภิวงศ์” หรือ หมอนุ่น จิตแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดใจกับ ข่าวสดบิวตี้ ถึงปมคนคิดสั้นช่วงวิกฤตโควิดว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก แม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาไม่จบง่ายๆ

ชมคลิป

 

“ไม่ใช่แค่ในมุมมองหมอคนเดียว นักวิชาการทางด้านสุขภาพจิตคุยกันว่าน่าจะสูงขึ้นอีก แต่จะสูงขึ้นถึงขนาดปี 2543 ที่มีวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งหรือเปล่า ตอนนั้น 8 กว่าๆ ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งเราก็พยายามที่จะลดไม่ให้ไปถึงตรงจุดนั้น ลดให้ได้น้อยที่สุด ไม่ให้ไปถึงสถิติเดิมที่เคยพุ่งไปขนาดนั้น

ปัจจุบัน กรมสุขภาพจิต ได้สำรวจว่าอัตราการฆ่าตัวตายของประเทศไทย จากเดิมสถิติ 6 – 6.5 คนต่อประชากร 1 แสนคน แต่ปัจจุบันในขณะที่โควิดเริ่มระบาดใหม่ๆ ก็พบแล้วว่าเพิ่มสูงขึ้น เป็น 6.64 ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งแนวโน้มวิเคราะห์กันว่าน่าจะเพิ่มขึ้นอีก”

ขณะที่สาเหตุของการตัดสินใจคิดสั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชมองว่า เกิดขึ้นจากปัจจัยเชิงลบ เช่น ความรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ในชีวิต โดดเดี่ยว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้

“คนที่ทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย เขาจะรู้สึกว่าเขาแก้ปัญหาไม่ได้ รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีใครช่วยเหลือ รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ รู้สึกผิด ไม่สามารถทำอะไรดีๆ ได้ต่อไปก็จะมาโยงเรื่องของปัจจัย 4 ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน คือตอนนี้อาหาร อากาศ ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ปัจจัย 4 ก็ไม่ดีตามไปด้วย

เศรษฐกิจไม่ดีหมายถึงว่า อาจจะมีภาวะการเงินที่ลำบากเดือดร้อน ไม่สามารถมีอาหาร ที่อยู่อาศัย หรือเสื้อผ้าที่ดีได้ รวมถึงยารักษาโรครวมถึง หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์

ซึ่งถ้าหาซื้อไม่ได้ก็จะเกิดความไม่มั่นคงในจิตใจ-ร่างกาย ทำให้รู้สึกว่าไม่สมควรที่จะได้อยู่ต่อไป ไม่รู้จะแก้ปัญหาได้อย่างไร หรือว่ามีครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบอีก ไม่รู้ว่าจะดูแลครอบครัวได้อย่างไร”

แม้สถานการณ์ล่าสุด ประเทศไทยได้คลายล็อกดาวน์ เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อน้อยลงและมีทิศทางไปในทางที่ดีขึ้น ทว่า จิตแพทย์คนเดิมยังคงเป็นห่วงเรื่องการปรับตัวใหม่ (New Normal) รวมถึงความเครียดสะสมของประชาชนที่มีมาตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดที่อาจยืดเยื้อเรื้อรัง

“เป็นห่วงเรื่องของการจะต้องปรับตัวใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อวิกฤตการระบาดผ่านพ้นไปแล้ว เราก็ต้องกลับไปทำงานในที่ทำงาน หรือกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ซึ่งก็ไม่เหมือนแบบเดิมซะทีเดียว อย่างที่เราใช้คำว่า New Normal (ภาวะปกติแบบใหม่) มันก็ต้องมีการปรับตัวครั้งใหม่อีก

บางคนอาจจะไม่มีงานทำแล้วก็ต้องไปหางานแบบใหม่ทำ ซึ่งก็ต้องปรับตัวหลายๆ ด้านเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขอนามัยในตัวเอง

พร้อมกันกับทำงานนอกบ้านไปด้วย ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็จะเกิดความเครียด หลังจากวิกฤตโควิดก็มีแนวโน้มที่จะเรื้อรังยืดเยื้อยาวนานหลายเดือน หรือเป็นปีก็จะทำให้เกิดความเครียดสะสม

จนเกิดเป็นโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือโรคอารมณ์แปรปรวน หรือแม้กระทั่งการใช้สารเสพติดก็จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะบางคนก็จะใช้สารเสพติดในการแก้ปัญหาทางด้านความเครียด-อารมณ์ก็เป็นห่วงเรื่องนี้”

สุดท้าย หมอนุ่นยังฝากแนะนำ การข้ามผ่านสถานการณ์ความเครียดช่วงโควิดระบาดด้วยว่า ให้เรียนรู้การปรับตัว ปรับใจ ที่สำคัญคือการยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็จะช่วยให้ก้าวผ่านวิกฤตไปได้

“เริ่มจากการปรับใจของเราก่อน อาจจะต้องเรียกว่ายอมรับความจริงว่ามีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น อาจจะต้องใช้ใจที่ฝึกมาก่อนแล้ว แต่ถ้ายังไม่ฝึกก็สามารถเริ่มฝึกได้เลย ฝึกที่จะทำให้ใจเราเป็นคน “ใจดีๆ” เป็นใจดีที่เป็นกลางๆ เป็นใจที่ปกติ ผ่อนคลายสบายๆ เป็นใจที่พร้อมจะเปิดรับความจริง

พร้อมที่จะใช้สติ ใช้ความคิดในการแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นก็จะเกิดไอเดียต่างๆ ในการที่จะปรับตัวตามมา ปรับตัวให้เรามีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข หรือทุกข์น้อยในสถานการณ์ที่เหมือนจะลำบากและทุกข์ยากกันไปหมด

ที่สำคัญหมอก็อยากให้ลดเรื่องของการเป็นตราบาปว่าการมาพบจิตแพทย์เป็นเรื่องของคนที่สติไม่ดี เป็นคนบ้า หรือดูน่าอาย น่ารังเกียจนะคะ เพราะว่าจริงๆ แล้วสุขภาพจิตของเราสามารถที่จะป้องกันได้ สามารถดูแลรักษาจนหายเป็นปกติ สามารถใช้ชีวิต ทำงานทุกอย่างอยู่ในสังคมได้เป็นปกติเหมือนคนทั่วไปได้”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน