กสทช.ปลื้มผลทดสอบความเร็ว-ราคาอินเทอร์เน็ตไทยวิ่งฉลุยผงาดที่ 1 และ 2 ของอาเซียน ขณะราคาเน็ตบ้านต่ำสุด

จากการสำรวจของ Speedtest by Ookla เว็บไซต์ที่วัดความเร็วอินเทอร์เน็ตให้บริการมาตั้งแต่ปี 2549 (2006) วัดความเร็วอินเทอร์เน็ตมากกว่า 30,000 ล้านครั้งนับแต่ก่อตั้งบริษัท มีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 10 ล้านคนต่อวัน เผยแพร่รายงานความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตประจำเดือน ก.ค.ว่า ประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตมือถือ และอินเตอร์เน็ตบ้านความเร็วเป็นอันดับ 59 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ (อันดับ 13 ของโลก)

โดยมีความเร็วในการใช้งานเฉลี่ย 32.87 Mbps และยังพบด้วยว่าความเร็วอินเตอร์เน็ตบ้านในไทยนั้น ยังเร็วเป็นอันดับสามของโลกอีกด้วย โดยมีความเร็วเฉลี่ย 171.45 Mbps

ขณะที่ The Economist Intelligence Unit หน่วยงานวิจัยของนิตยสารระดับโลก Economist ที่ร่วมกับ Facebook ทำผลการศึกษาการใช้งานและการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลกในปี 2020 ภายใต้ดรรชนีชี้วัด Inclusive Internet Index ที่วัดผลของอินเตอร์เน็ต ใน 4 ด้านคือ

การเข้าถึงการใช้งานในด้านโครงสร้างพื้นฐาน(Availability) การแข่งขันและราคาการใช้งานอินเตอร์เน็ตเมื่อเทียบรายได้ประชากร (Affordability) ปริมาณและความหลากหลายของข้อมูล(Relevancy) และความสามารถและความปลอดภัยที่เอื้อในการใช้งาน Readiness พบว่าดรรชนี Inclusive Internet Index ของไทยได้คะแนน 74.8 เป็นอันดับที่ 39 ของโลก และเป็นอันดับ 8 ของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง

ส่วนของอันดับการเข้าถึงการใช้งานและราคาการใช้งานอินเตอร์เน็ตนั้น ประเทศไทยมีความโดดเด่นเป็นอันดับ 2 ของชาติอาเซียน รองจากสิงคโปร์ แต่เป็นอันดับ 1 ในด้านความถูกของราคาการใช้งานอินเทอร์เน็ตเมื่อเทียบกับรายได้ของประชากร

แหล่งข่าวจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) เผยว่า ความสำเร็จของบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ต ทั้งในส่วนของความครอบคลุม การเข้าถึงบริการโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน และโดยเฉพาะราคาการใช้งานอินเทอร์เน็ตเมื่อเทียบรายได้ประชากรที่ประเทศไทยต่ำเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน

ถือเป็นผลงานความสำเร็จของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มีการผลักดันให้ประเทศมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต ทั้งในส่วนของ Mobile Operator และ Fixed line Operator และโดยเฉพาะการที่กสทช.เดินหน้าเปิดประมูลคลื่นความถี่ 5 จี ไปเมื่อต้นปี 2563 ที่มีส่วนทำให้ประเทศไทยสามารถเปิดให้บริการ 5 จีในเชิงพาณิชย์ได้ก่อนประเทศอื่นในภูมิภาคนี้

ผลสำเร็จของการประมูล 5 จีดังกล่าว ไม่เพียงจะทำให้คนไทยเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตที่เป็นบริการพื้นฐานในราคาที่ถูกแล้ว ยังทำให้รัฐบาลสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวในการเป็นเครื่องมือสกัดกั้น และควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 อย่างได้ผลอีกด้วย จนทำให้ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศ

ฐากร ตัณฑสิทธิ์

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า ในอดีตไทยอาจล้าหลังด้านเทคโนโลยี 3 จีและ 4 จีเพราะเราพัฒนา 3 จีได้ช้ากว่าประเทศอื่นนับ 10 ปี 4 จีก็ล่าช้าไปกว่า 5-6 ปีแต่คลื่น 5 จี นั้นไทยเราสามารถวางโครงสร้างพื้นฐาน 5 จี และเปิดให้บริการได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ จึงเป็นโอกาสของประเทศที่จะเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มและปรับโครงสร้างบริการ OTT 5G ของประเทศ ให้ก้าวทันโลก เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่กิจกรรมทุกอย่างจะขับเคลื่อนบนมือถือและสมาร์ทโฟน กิจกรรมทุกอย่างจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

เมื่อก่อนรัฐบาลอาจให้ความสำคัญของกระทรวงคมนาคมว่าเป็นกระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอ แต่โลกดิจิทัลที่ทุกสิ่งทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิทัลนั้นกระทรวงดีอีเอสถือเป็นกระทรวงที่น่าจะมีบทบาทสูงสุดในการขับเคลื่อนประเทศเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเงิน โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจทุกอย่างจะขับเคลื่อนผ่านเทคโนโลยีทั้งสิ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน