เทรนด์เทคโนโลยี2022 เมตาเวิร์ส-ควอนตัม-คริปโต – ช่วง 2 ปีการระบาดของโควิด-19 ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิต ความต้องการ ทิศทาง และความว่องไวของพัฒนาการทางเทคโนโลยีรอบด้าน ส่งผลให้หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ต่อไปนี้ คือบรรดาสุดยอดเทคโนโลยีที่จะเข้ามีบทบาทต่อชีวิตของมนุษย์ทั่วโลกมากขึ้นในปี 2565 หรือ ค.ศ.2022 ตามคาดการณ์ของสื่อ อาทิ ไทมส์ ออฟ อินเดีย และไอที บิสิเนส เอดจ์รวมทั้งนิวส์วีก ตลอดจนเอ็ดเทค แก๊ดเจ็ต 360 และเฮลธ์เทค

● อินเตอร์เน็ตยุคที่สาม (WEB 3.0)

หากยุคแรกของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเป็นการถือกำเนิดขึ้นของเว็บไซต์และบล็อกต่างๆ นำไปสู่การเติบโตของเอกชนผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่อย่าง Yahoo, eBay และ Amazon ยุคถัดมาของอินเตอร์เน็ต (WEB 2.0) ก็ย่อมต้องเป็นการมาถึงของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ว่องไวอย่างสื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ อาชีพสตรีมเมอร์ และบรรดาคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ผู้รังสรรค์คอนเทนต์ต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Facebook และ Youtube เป็นต้น

“แพลตฟอร์มเหล่านี้เองที่ทำรายได้จากการอนุญาตให้ผู้ใช้ข้างต้นเข้าไปใช้งาน” เบเนดิกต์ เอวานส์ นักวิเคราะห์อิสระจากซิลิคอน วัลเลย์ในสหรัฐอเมริกา อธิบายถึง WEB 3.0 หรืออินเตอร์เน็ตยุคที่สาม สะท้อนจากลักษณะการใช้งานที่เชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์และเป็นวงกว้าง คือ การที่ผู้ใช้งาน ผู้สร้างคอนเทนต์ และผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม จะมีส่วนร่วมในการกำหนด รูปแบบและทิศทางของคอนเทนต์นั้นๆ ผ่านการโหวตและแสดงความคิดเห็นติชม แลกเปลี่ยน

เทคโนโลยีที่จะเป็นองคาพยพหลักในการก่อเกิดพฤติกรรมการใช้งานข้างต้นนี้ คือ บล็อกเชน ซึ่งเป็นหลักการที่ทำให้ โปรแกรมใดๆ รันได้บนคอมพิวเตอร์ หลายล้านเครื่องทั่วโลก

กล่าวคือ WEB 3.0 เป็นอินเตอร์เน็ตยุคที่ไม่ต้องมีคนกลาง และไร้การรวมศูนย์

● เงินคริปโต ธุรกรรมไร้คนกลาง

เทคโนโลยีบล็อกเชนส่งผลให้สกุลเงินดิจิตอลทั้งแบบคริปโต และสาย NFTs (non-fungible token) แพร่หลายมากขึ้น นำไปสู่การกระจายอำนาจทางการเงินออกจากธนาคาร สร้างความหวั่นไหวให้กับสถาบันการเงินทั่วโลก

นักวิเคราะห์จากสถาบันที่ปรึกษาการเงินอย่าง Fabernovel มองว่าเงินสกุลดิจิตอลจะแพร่หลายและเริ่มนำมาใช้ซื้อขายสิ่งของในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ในปีนี้ โดยจะเริ่มจากระดับท้องถิ่นก่อน

ทั้งนี้ สกุลเงินคริปโตอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เข้ามาใช้คอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานทั่วโลกรันระบบการทำธุรกรรมแทนที่สถาบันการเงินในปัจจุบัน โดยข้อมูลทางธุรกรรมแบบบล็อกเชนนั้นจะมีการเข้ารหัส และยังไม่มีผู้ใดเจาะได้ รวมทั้งมีความแม่นยำสูง เพราะทวนสอบและสอบทวนผ่านข้อมูลจากลูกค้าอื่นได้ตลอดเวลา

ส่วน NFTs นั้นเป็นการใช้บล็อกเชน เข้ามาคุ้มครอง “ความเป็นหนึ่งเดียว” ของสินค้า นิยมในพวกผลงานศิลปะ และ ผลงานที่มีคุณค่าทางจิตใจสูง (เพราะมีเพียงหนึ่งเดียว ไม่สามารถมีสิ่งใดทดแทนและปลอมแปลงไม่ได้) ส่งผลให้สินค้า เหล่านี้มีมูลค่าสูงอย่างน่าตื่นตะลึง

● เอไอพัฒนาเมตาเวิร์ส

ใครจะเรียก “จักรวาลนฤมิต” ก็ได้ คอนเซ็ปต์การสร้างโลกเสมือนจริงด้วย การบูรณาการเทคโนโลยีดิจิตอล ใช้ทำงานหรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคมร่วมกันได้ แม้คอนเซ็ปต์นี้ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ มานานแล้วโดยเฉพาะในวงการเกมออนไลน์ และวีอาร์ (Virtual Reality) รวมทั้งนำไปเป็นพล็อตของภาพยนตร์อะนิเมะญี่ปุ่นหลายเรื่อง เช่น Sword Art Online ที่จุดระเบิดแรงบันดาลใจทางเทคโนโลยีด้านเมตาเวิร์ส (และ genre)

แม้ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่เข้าใกล้คอนเซ็ปต์ดังกล่าวได้สมบูรณ์แต่กลายเป็นพาดหัวข่าวดังจากปากของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเมตา (เฟซบุ๊กเดิม) ที่ระบุว่าจะมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี เมตาเวิร์สด้วย การนำเทคโนโลยีวีอาร์มารวมกันกับเฟซบุ๊ก

อย่างไรก็ดี ไอที บิสิเนส เอดจ์ มองว่า เทคโนโลยีที่จะเข้ามาเป็นแกนหลักการพัฒนาเมตาเวิร์สนั้นจะเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML) ซึ่งจะทำให้องค์กรต่างๆสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงเพื่อนำมาใช้ร่วมกับการทำงาน สร้างผลผลิตที่มากขึ้น และทำให้พนักงานมีเวลาส่วนตัว อยู่กับบ้านมากขึ้นด้วย

● AI และ ML โตภาคเอกชน

เทคโนโลยี AI และ ML จะมีความเกี่ยวโยงใกล้ชิดกันมากขึ้นส่งผลให้บรรดาเอกชนหันมาใช้ธุรกิจดิจิตอลนำหน้าสร้างรายได้เป็นหลัก

ไอที บิสิเนส เอดจ์ คาดว่า อัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ของเอกชนที่ใช้เทคโนโลยีนี้จะพุ่งสูงถึงร้อยละ 33 ภายในปี 2570 โดยองค์กรเอกชนแต่ละแห่งนั้นจะมีการใช้ AI ร่วมกับภาคการผลิตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 35 ภายในปีนี้ ผู้ที่มีส่วนในการกำหนดยุทธศาสตร์องค์กรควรต้องนำเทคโนโลยีข้างต้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์โดยเร็วที่สุด

● ต่อกระแสเวิร์กฟรอมโฮม

การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีมานี้ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการทำงานนั้นมุ่งเน้นการทำงานที่บ้านและทำงานทางไกลมากขึ้น และยากที่ทุกสิ่งจะหวนกลับไปเป็นเช่นเดิมได้อีก

ไทมส์ ออฟ อินเดีย มองว่า นอกไปจากการแพร่หลายของเทคโนโลยีคลื่นการสื่อสาร 5G ที่จะแพร่หลายมากขึ้นในปีนี้ จะยังมีสินค้าอัจฉริยะ และผลิตภัณฑ์ ไร้สายต่างๆ ทยอยออกมาอีกจำนวนมาก เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้การ ไลฟ์สไตล์ใหม่ของมนุษย์ ที่ต้องการการเว้นระยะห่าง แต่ยังต้องการความสะดวกรวดเร็วในการปรับเปลี่ยน

ผนวกกับการเติบโตของ AI และ ML จะทำให้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง หรือ IoT (Internet of Things) เติบโตไปอีกขั้นในปีนี้

● ภัยคุกคามจากแรนซัมแวร์พุ่ง

การเพิ่มพูนขึ้นไลฟ์สไตล์ในโลกดิจิตอลของมนุษย์มาพร้อมกับภยันตรายต่างๆ อาทิ ไวรัสคอมพิวเตอร์ และการเจาะระบบ และที่น่ากลัวที่สุดนั้นเป็นแรนซัมแวร์ หรือไวรัสเรียกค่าไถ่เพื่อปลดล็อกคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของเหยื่อ

บริษัทโซนิกวอลล์ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยดิจิตอล ระบุว่า มีผู้ถูกโจมตีจากแรนซัมแวร์ถึง 495 ล้านครั้งในปี 2564 และคาดว่าปี 2565 ปริมาณการโจมตีจะมากขึ้นจนทุบสถิติเดิม ส่งผลให้บรรดาองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้ใช้ทั่วไปหันมาให้ความสำคัญต่อมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูล และปรับปรุงพฤติกรรมการใช้งานของตัวเองให้ระมัดระวังมากขึ้นจนกลายเป็นนิสัย

● รัฐเข้าควบคุมยักษ์ใหญ่ไอที

วงการการเงินที่อุตสาหกรรมไอทีกำลังเข้ามามีส่วนกำหนด และกัดกร่อนอำนาจรวมศูนย์ของสถาบันการเงินด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนอาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาออกกฎหมายใหม่เพื่อควบคุมบรรดาเอกชนยักษ์ใหญ่ไอที รวมถึงพฤติกรรมการใช้งานโลกดิจิตอลของบุคคลทั่วไปมากขึ้นในปีนี้

แก๊ดเจ็ต 360 ระบุว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเอกชนเหล่านี้กำลังกลายเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่ออำนาจรัฐ ยกตัวอย่างคดีความระหว่างเฟซบุ๊กกับคณะกรรมาธิการ ตรวจสอบและป้องกันการผูกขาดของสหรัฐอเมริกา ยังมานับ รวมข้อมูลภายในของเฟซบุ๊กที่ถูกอดีตผู้จัดการนำมาเปิดโปง จนเป็นที่ฉาวโฉ่ไปทั่วโลก เป็นต้น

● อีสปอร์ต-ปฏิรูปการศึกษา

อุตสาหกรรมกีฬาดิจิตอล หรืออีสปอร์ต ที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตและแผ่ขยายไปทั่วโลกนั้นได้รับการคาดการณ์จาก ผู้เชี่ยวชาญของจากเอ็ดเทคว่าจะมีมูลค่าถึง 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 60,000 ล้านบาทในปี 2565 และหลายประเทศจะเริ่มปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อเตรียมเยาวชนให้มีทักษะเพียบพร้อมในการรับมือกับการมาถึงของอุตสาหกรรมอีสปอร์ต

รวมถึงแนวโน้มเพิ่มขึ้นของทุนการศึกษาด้านอีสปอร์ตในระดับอุดมศึกษา

● ควอนตัมเอไอ (QAI)

สุดยอดพัฒนาการของ AI จะเริ่มมีผู้นำมาใช้งานในครัวเรือนภายในปีนี้ โดยเป็น AI ที่ใช้หลักการประมวลผลแบบคอมพิวเตอร์ควอนตัม ซึ่งแตกต่าง AI ปัจจุบันที่ประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั่วไป ส่งผลให้มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาธุรกิจที่ซับซ้อน วิเคราะห์ข้อมูล และพยากรณ์รูปแบบได้แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้นอย่างน่าตื่นตะลึง

ถือเป็นวิวัฒนาการขั้นต่อไปของคอมพิวเตอร์ปัจจุบัน

● อุตสาหกรรมการแพทย์ว่องไว

การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 นอกจากทำให้พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนไปแล้วจะส่งผลให้เกิดการปฏิรูปอุตสาหกรรมการแพทย์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความร่วมมือด้านการวิจัย และการประสานข้อมูลง่ายขึ้น รวมถึงขั้นตอนการวิจัยที่จะมีความรวบรัด แม่นยำมากขึ้นจากความช่วยเหลือของเอไอ และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เพื่อให้ตรงต่อความต้องการจำเพาะและเร่งด่วนทางสาธารณสุขของประชาคมโลก จุดระเบิดจากการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

จันท์เกษม รุณภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน