มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘o ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถือเอาวันที่ 20 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จัดงาน “วันคึกฤทธิ์” เพื่อระลึกถึงและสืบทอดเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะการประกาศเกียรติคุณบุคคลทางด้านศิลปะของไทย ด้วยการจัดพิธีมอบรางวัลคึกฤทธิ์และประกาศเกียรติคุณให้แก่ศิลปินมีฝีมือ

รางวัลคึกฤทธิ์เริ่มต้นขึ้นในปี 2537 ในรูปแบบของโครงการอนุเคราะห์ศิลปินสืบเนื่องจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งปณิธานที่จะช่วยเหลือศิลปิน สูงอายุผู้ตกทุกข์ได้ยาก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพื่อจะได้มีโอกาสถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้ของตนสู่ชนรุ่นหลัง ต่อไป จนกระทั่งปี 2535 ได้ปรับเปลี่ยนเป็น “รางวัลคึกฤทธิ์” เพื่อเชิดชู ยกย่องศิลปินที่มีคุณงามความดีและคุณประโยชน์แก่วงการศิลปินไทยในสาขาต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘oฯ กล่าวว่า “ครั้งนี้เราจัดงานวันคึกฤทธิ์ขึ้นเป็นปีที่ 9 ในทุกๆ ปี นอกจากการจัดงานเพื่อแสดงความระลึกถึงบุคคลสำคัญระดับโลกอย่างอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ ทางมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘oฯ ต้องการเป็นกำลังใจและเป็นพลังให้ศิลปินผู้มีผลงานด้านนาฏศิลป์- การละคร ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และศิลปะการแสดงแขนงอื่นๆ ส่งต่อความสามารถนี้ให้คนรุ่นถัดไป เพื่อทำให้ศิลปะของชาติมีคนดูแลให้เป็นสมบัติของชาติไทยไปอย่างยาวนาน”

ในปีนี้มูลนิธิคัดเลือกศิลปินที่มีผลงาน เป็นที่ประจักษ์ได้รับรางวัลคึกฤทธิ์ปี 2561 คือ นายประพันธ์ สุคนธชาติ สาขาคีตศิลป์ นายณรงค์ โรจนะทรัพย์ สาขานาฏศิลป์ นายสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ สาขาวรรณศิลป์ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล สาขาศิลปะการแสดง

หนึ่งในศิลปินคึกฤทธิ์ของปีนี้ ครูณรงค์ โรจนะทรัพย์ เข้ารับราชการโดยเป็นครูโขนยักษ์ยุคบุกเบิกโขนธรรมศาสตร์ จนกระทั่งลาออกจากราชการก่อนกำหนดเพื่อเดินทางไปใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกากว่า 30 ปี แต่ครูณรงค์ยังคงความเป็นครู โดยยังเปิดสอนนาฏศิลป์ไทยให้เยาวชนที่วัดไทยในนครลอสแองเจลิสมาตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น

“ผมคิดว่าการสืบทอด ศิลปะไทยของเรานั้นเป็นเรื่องสำคัญ ผมเริ่มต้นจากเด็กที่ไม่ได้รักศิลปะ คือเด็กยากจน ให้ทำอะไรได้ตังค์ก็ทำ มีความกดดัน จนมีความพยายามเข้าถึงเนื้อเข้าถึงหัวใจ ของนาฏศิลป์โขน เด็กยุคนี้ไม่เหมือนกัน ไม่ต้องปากกัดตีนถีบเหมือนยุคก่อน การฝึก ก็ยาก ความอดทนต้องมาอันดับหนึ่ง พอความพยายามมันไม่เหมือนกัน งานหนักเลยกลับ มาตกที่ครูอีก แต่ผมจะคิดอยู่ตลอดเวลาถ้า มีโอกาสต้องสอน ไปอาศัยอยู่อเมริกาหลายสิบปี ก็ใช้เวลาเสาร์-อาทิตย์ไปสอนเยาวชน ที่วัดไทยโดยไม่ได้ค่าจ้าง เพราะตอนนั้นผม คิดว่าถ้ารุ่นอย่างเราไม่พยายามสืบทอด ส่งต่อศิลปะโขนให้อยู่ในตัวเด็กรุ่นหลังๆ มันก็จะค่อยๆ หายไป”

อีกหนึ่งครูของวงการแสดงที่เป็นทั้งผู้กำกับภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครเวที และยังเป็นครูสอนการแสดงระดับสากล ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล กล่าวว่า “รางวัลนี้เป็นกำลังใจมากให้กับเรา เพราะขณะที่กำกับฯ เรื่อง ราโชมอนและสี่แผ่นดินของท่านก็ได้เห็นความเป็นครูของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มาวันนี้ครูให้รางวัลก็ยิ่งรู้สึกภาคภูมิใจ ต้องบอกว่าศิลปะถูกส่งต่อกันผ่านตัวหนังสือ ภาพยนตร์ ผ่านละครกันได้ ผมอาจไม่ได้เป็นครูในวิชาชีพ แต่สิ่งที่เราได้เห็นได้รับมาก็ตั้งใจส่งต่อออกไปในวิธีการและมุมมองของเรา ให้มีคุณค่าต่อคนรุ่น ต่อๆ ไปเหมือนอย่างที่ท่านทำ อยากดำเนินตามเงาของท่าน อย่างน้อยนิดหนึ่งก็ยังดี”

ในงานวันคึกฤทธิ์ปีนี้ยังจัดการแสดง เดี่ยวซอ โดย ครูวรยศ ศุขสายชล สุดยอดฝีมือซอคนหนึ่งของเมืองไทย ฟังรสมือละเอียดลึกล้ำกับการเดี่ยวซอสายลวด ผ่านบทเพลง “บุพเพสันนิวาส” การแสดงชุมนุมฉุยฉาย พระ นาง พราหมณ์ ยักษ์ ลิง และการแสดงโขน ชุดศึกกุมภกรรณ ตอน พิเภกห้ามทัพ

ผู้ที่สนใจหรือต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘oฯ เช่น การเรียนศิลปะไทย การเยี่ยมชม ห้องสมุด ห้องชมนิทรรศการ ศูนย์ศิลปะการแสดง คณะโขนสถาบันคึกฤทธิ์ ฯลฯ หาข้อมูล เพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก kukritinstitute

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน