“เสถียร จันทิมาธร”

เมื่อมีคำถาม “ทำไมตำแหน่งที่ตั้งของเกงจิ๋ว” เสนอขึ้นผ่าน “101 คำถามสามก๊ก” หม่าเปาจี้ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบ

ปรากฏตามสำนวนแปล ถาวร สิกขโกศล

ประการแรก ทำเลทางภูมิศาสตร์ของเกงจิ๋วโดดเด่นเป็นพิเศษ อยู่ในลุ่มแม่น้ำ แยงซีตอนกลางเป็นศูนย์กลางสำคัญของการคมนาคม ตั้งแต่ช่วงต้นของสภาวการณ์สามก๊ก เกงจิ๋วเป็นดินแดนต่อสำคัญของทั้ง 3 ก๊ก ต่างฝ่ายจึงต่างจ้องยึดเกงจิ๋วเป็นของตน

ประการต่อมา ภายใต้การปกครองของเล่าเปียว เกงจิ๋วมีความอุดมสมบูรณ์ไม่น้อย แต่เล่าเปียวไม่คิดขยายดินแดนทำให้คนอื่นเกิดความหวัง (ที่จะขยายดินแดนยึดเกงจิ๋ว)

เล่าเปียวเป็นคนไม่มีวิสัยทัศน์และขี้ขลาดมาก

เขาเป็นข้าหลวงเกงจิ๋วตั้งแต่ปีแรกของรัชศกชูผิง (ค.ศ.190) ถึงก่อนศึกเซ็กเพ็ก (ค.ศ.208) เป็นเวลารวมเกือบ 20 ปี

อีกทั้งควรกล่าวได้ว่าเป็นรากฐานอันมั่นคง ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ได้รับผล กระทบจากสงครามน้อย แต่เล่าเปียวกลับไม่รู้จักใช้จุดแข็งนี้มาเป็นความได้เปรียบทางการเมืองและการทหาร แต่กลับหดหัวอยู่ในกระดอง

ยอมตกเป็นเหยื่อ

ขณะที่โจโฉรบกับอ้วนเสี้ยวอย่างดุเดือด อ้วนเสี้ยวรู้สึกคับขันขอให้เล่าเปียวช่วย นับเป็นโอกาสดีที่เล่าเปียวจะขยายอิทธิพล

อาศัยกำลังอ้วนเสี้ยวสกัดโจโฉ เพิ่มกำลังอำนาจให้ตนอย่างรวดเร็ว

แต่เล่าเปียวกลับไม่ตระหนักในเรื่องนี้เลย ปล่อยให้ 2 ฝ่ายรบกันไปตามเรื่อง หวังเพียงให้เกงจิ๋วดินแดนผืนน้อยแห่งนี้ดำรงอยู่อย่างสงบสุขไปวันๆ หนึ่ง

แต่ความจริงได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นความใฝ่ฝันที่ไม่สอดคล้องกับภววิสัย

เหตุที่แต่ละฝ่ายยังไม่ลงมือต่อเกงจิ๋ว เพราะโอกาสยังมาไม่ถึง ถึงวันที่สถานการณ์สุกงอม ทั้ง 3 ฝ่าย (โจโฉ ซุนกวน เล่าปี่) ไม่มีใครที่จะยอมละเว้นเกงจิ๋ว การแสดงออกของเล่าเปียวเช่นนี้ยิ่งทำให้ผู้ละโมบเพิ่มความหวัง ต่างก็ยอมให้เกงจิ๋วตกเป็นของคนอื่นไม่ได้ ถึงเวลาที่ทั้ง 3 ฝ่ายขยายอำนาจ ทุกฝ่ายก็ใช้วิธีการต่างๆ ของตัวเองออกมา (ชิงเกงจิ๋ว)

ทางฝ่ายโจโฉหลังศึกกัวต๋อชนะอ้วนเสี้ยวก็จะยกทัพลงปราบแดนใต้ แต่ซุนฮก ที่ปรึกษากังวลว่าพวกพ้องของอ้วนเสี้ยวยังไม่ถูกกำจัดให้สิ้นซากจึงทักท้วงให้โจโฉยับยั้งไว้ก่อนโดยกล่าวว่า

“ขณะนี้อ้วนเสี้ยวพ่ายพวกพ้องต่างเอาใจออกหาก ควรจะถือโอกาสตอนอ้วนเสี้ยวอับจนตามกำจัดให้สิ้น หากทิ้งกุนจิ๋วและอิจิ๋ว (ถิ่นของอ้วนเสี้ยว) ไปตีแดนไกลแถบแม่น้ำแยงซีและฮั่นสุ่ย ถ้าอ้วนเสี้ยวรวมกำลังที่เหลือตีตลบหลังท่านจะเสียเปรียบ”

จึงเห็นได้ว่า การตีเกงจิ๋วเป็นยุทธศาสตร์ที่โจโฉกำหนดไว้แน่นอนแล้ว

ทางฝ่ายเล่าปี่ เล่าปี่ไปเยือนกระท่อมหญ้าขงเบ้ง 3 ครั้ง เพื่อเชิญขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษา ขงเบ้งวิเคราะห์สถานการณ์อย่างละเอียดว่า

“เกงจิ๋วด้านเหนือคุมแม่น้ำฮั่นกับแม่น้ำเหมี่ยน 2 สาย ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์

“ตะวันออกเชื่อมต่อเมืองง่อกุ๋นและห้อยเข ตะวันตกทะลุถึงแดนปาและสู่ทั้ง 2 เมือง จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และเจ้าของ(เล่าเปียว)ไม่มีความสามารถที่จะรักษาไว้ได้ เป็นดินแดนที่สวรรค์ประทานให้ท่านขุนพล

“หากท่านยึดเกงจิ๋วและเอ๊กจิ๋ว 2 เมืองนี้ไว้ อาศัยชัยภูมิที่เข้าตีได้ยากตั้งมั่นอยู่ ผูกไมตรีกับชนชาติส่วนน้อยทางตะวันตกและใต้ รักษาสัมพันธ์กับซุนกวน จัดการปกครองภายในให้ดี หากสภาวการณ์ในแผ่นดินเปลี่ยนแปลงค่อยให้แม่ทัพคนหนึ่งยกออกจากเกงจิ๋วตีผ่านเมืองลำหยงไปถึงลั่วหยาง ส่วนตัวท่านขุนพลยกทัพออกจากเอ๊กจิ๋วเข้าตีฉินชวน จะมีราษฎรคนไหนกล้าไม่ยินดีต้อนรับท่าน หากเป็นดังแผนนี้การปราบดาภิเษกก็จะสำเร็จ อำนาจของราชวงศ์ฮั่นก็จะกลับฟื้นคืนมา”

ขงเบ้งจัดเกงจิ๋วเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เป็นปัจจัยหลักในการตั้งตัวเป็นใหญ่ของเล่าปี่ ฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นขึ้นมาใหม่

ยังไม่สิ้นกระแสความแห่งคำตอบ คำอธิบายอันมาจาก “หม่าเป่าจี้” ต่อคำถาม ทำไมตำแหน่งที่ตั้งเกงจิ๋วจึงมีความสำคัญเช่นนี้

เพราะเสมอเป็นการมองผ่าน 1 เล่าเปียว

เพราะเสมอเป็นการมองผ่านมุมของทางด้านวุยก๊ก โจโฉ เพราะเสมอเป็นการมองผ่านมุมของทางด้านเล่าปี่ จากคำอธิบายของขงเบ้ง เพราะว่า 2 กลุ่ม 2 ก๊กนี้ล้วนจ้องมองเขม้นไปยังเกงจิ๋วในฐานะก้อนเนื้ออันโอชะ

การศึกษาคำอธิบายทางด้านง่อก๊กก็สำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน