เรื่องของ “ขยะ” ที่คนทั่วโลกต่างมองเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้หน่วยงาน องค์กรต่างๆ หาวิธีการ และแนวทางแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่แนวคิดเรื่องการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน และให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดขยะให้เหลือน้อยที่สุด

โดยใช้หลักการ 3Rs (Reduce-Reuse-Recycle) มาใช้เป็นตัวรณรงค์ และกระตุ้นจิตสำนึกให้กับประชาชนในทุกกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ต่างรู้จักและเข้าใจ นำมาสู่การปรับใช้ในชีวิตประจำวัน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการลดปัญหาขยะที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน

จนถึงปัจจุบันนี้ มีหลายปัจจัยที่เข้าเป็นองค์ประกอบสำคัญ ต่อการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิตกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นกระแสรักษ์โลก การต่อต้านการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิล

นำมาสู่แนวคิด เรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งองค์กรนานาชาติกำลังให้ความสนใจ และผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ในแต่ละประเทศ เพราะถือว่า เป็นระบบการบริหารจัดการขยะที่ครบวงจร ทั้งในด้านการนำขยะที่ตกค้าง ขยะที่อยู่ในระบบการผลิต ขยะที่เกิดขึ้นใหม่ มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ด้วยการใช้เทคโนโลยี และการออกแบบ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

ตัวอย่างประเทศที่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ เศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น








Advertisement

โดยตัวอย่างแบรนด์ที่มีส่วนร่วมกับแนวทางดังกล่าวเช่น ไนกี้( Nike) ที่นำมาใช้กับขั้นตอนการผลิตโดยกำหนดให้ 71% ของเสื้อผ้า และรองเท้าทำมาจากวัสดุรีไซเคิล และนักออกแบบระดับโลกก็เลือกวัตถุดิบคุณภาพสูงจากเศษวัตถุดิบเหลือใช้ในโรงงาน

ขณะที่แบรนด์อาดิดาส (Adidas):รักษ์โลกได้ผลิตรองเท้ารุ่นพิเศษ วัสดุทำจากขยะและตาข่ายจับปลาในทะเล นอกจากนี้แบรนด์ เอช แอนด์ เอ็ม(H&M ) ได้ตั้งเป้าหมายที่ต้องการให้ธุรกิจของพวกเขาเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน 100% โดยนำเสื้อผ้าใช้แล้วกลับมาผลิตใหม่(Re-Material) เป็นต้น

ในขณะที่ประเทศไทย เป็นอีกประเทศที่มีการตื่นตัว และนำระบบ เศรษฐกิจหมุนเวียน นำมาใช้อย่างจริงจัง และกำหนดเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมทั้งเข้าร่วมเป็นภาคีเวทีนานานชาติ ทั้งของสหประชาชาติ (UN) เพื่อแสดงจุดยืนของประเทศที่มุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทุกภาคส่วน

ในด้านผู้ประกอบการไทยได้ตื่นตัว และมีความพร้อมในการร่วมผลักดัน และนำระบบ เศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ ในการดำเนินธุรกิจ มีหลายรายที่น่าจับตามอง

โดยเฉพาะ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ซึ่งเป็นบริษัทแกนนำธุรกิจเคมีภัณฑ์ของกลุ่ม ปตท.ที่ได้ดำเนินการตามแนวทางความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาได้ดำเนินตามหลัก เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ให้ความสำคัญด้านงานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี และความสร้างสรรค์ รวมถึงการดีไซน์ มาเป็นองค์ประกอบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ด้วยการจัดทำ Roadmap ของบริษัท ที่เน้นความสำคัญในเรื่อง ของ 5 R ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3 R เดิม

โดย 5 R ประกอบด้วย Reduce (ลดการใช้หรือใช้น้อยเท่าที่จำเป็น) Reuse (การใช้ซ้ำ) Recycle (การแปรรูปมาใช้ใหม่) Refuse (ปฏิเสธการใช้สารเคมีที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) Renewable (ใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบหมุนเวียน)

โดยแผนการปฏิบัติ 5 R จะมีความเข้มข้นของการบริหารจัดการของเสียทั้งวงจรการผลิต และผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นสู่ผู้ใช้ทั้งกลุ่มลูกค้าจนถึงผู้บริโภค สามารถยืดอายุการใช้งานของวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในปี 2561 นี้ PTTGC ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อจัดทำกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่เป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Roadmap Circular Economy โดยจะมีการทบทวนว่าทั่วโลกได้มีการดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างไร และต่อยอดทำอะไรได้อีกหรือไม่ รวมถึงการมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะขับเคลื่อนเพิ่มเติมโดยคาดว่ารายละเอียดจะออกมาได้ภายในปีนี้

แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนนับเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป เพื่อให้ทุกฝ่ายพร้อมรับมือกับเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนไป

รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ยอมรับในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเตรียมความพร้อมให้ไทยก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน