คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

[email protected]

ฉบับวานนี้ (22 พ.ย.) ศศินถามถึงการพระราชทานพัดยศและลำดับสมณศักดิ์ ตอบถึงยุคสุโขทัย แล้ว วันนี้มาตอบกันต่อ

ในสมัยอยุธยา เมื่อแบ่งคณะสงฆ์ฝ่ายคามวาสี (คณะสงฆ์ที่อยู่ในตัวเมืองและรอบๆ เมืองหลวง) ออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือ และเปลี่ยนราชทินนามของพระสงฆ์ที่ทรงแต่งตั้งให้ดูแลคณะสงฆ์คามวาสีฝ่ายใต้ หรือเจ้าคณะใหญ่ ว่า พระวันรัตน์ หรือ พระพนรัตน์ (ปัจจุบันใช้ว่า สมเด็จพระวันรัต) ส่วนพระสงฆ์ที่ทรงแต่งตั้งให้ดูแลคณะสงฆ์คามวาสีฝ่ายเหนือ หรือเจ้าคณะใหญ่ ให้มีราชทินนามว่า พระพุทธโฆษาจารย์ และพระสงฆ์ที่ทรง แต่งตั้งให้ดูแลคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี (คณะสงฆ์ที่อยู่นอกเมืองและเป็นพระนักปฏิบัติ) ให้มีราชทินนามว่า พระพุทธาจารย์ (ปัจจุบันใช้ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์)

และทรงสถาปนาพระสงฆ์รูปหนึ่งซึ่งเลื่อนจากเจ้าคณะใหญ่รูปใดรูปหนึ่งเป็น สมเด็จพระสังฆราช โดยเป็นสมณศักดิ์และประมุขสูงสุดดูแลปกครองพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรเพียงองค์เดียว

สมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ยังคงมีสมเด็จพระสังฆราช เป็นประมุขสูงสุดฝ่ายสงฆ์ และมีพระสงฆ์ที่ทรงสถาปนาให้มีสมณศักดิ์ชั้นรองๆ ลงไปบางรูปให้มีตำแหน่งในการปกครองสงฆ์ด้วย พระราชอำนาจในการสถาปนาสมณศักดิ์เป็นของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงพิจารณาแต่งตั้ง กระทั่งแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ได้ ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) ทำให้มีองค์กรสงฆ์ คือ มหาเถรสมาคม ขึ้น แต่การแต่งตั้งสมณศักดิ์ยังเป็นไปตามพระราชอำนาจ

ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2530 วิธีปฏิบัติเรื่องการพิจารณาพระสงฆ์รูปใดเพื่อทรงแต่งตั้งให้มีสมณศักดิ์เปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่องของฝ่ายคณะสงฆ์ที่จะพิจารณาแล้วกราบบังคมทูลให้ทรงทราบและพระราชทานสมณศักดิ์ อย่างไรก็ดี สมณศักดิ์ที่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ได้รับ ยังคงเป็นการรับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ โดยจะพระราชทาน สมณศักดิ์และพัดยศในการพระราชพิธีสำคัญๆ ทั้งนี้ มีสมณศักดิ์บางลำดับชั้นที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง หรือพระราชาคณะแต่งตั้งด้วย

นับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จัดลำดับและชื่อตำแหน่งสมณศักดิ์ ไว้ดังนี้

1.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

2.สมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่ชั้นสุพรรณบัฏ มีจำนวนที่กำหนดไว้ 8 รูป เป็นฝ่ายมหานิกาย 4 รูป และฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 4 รูป ราชทินนามของสมเด็จพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จพระวันรัต สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ สมเด็จพระมหามุนี สมเด็จพระมหาธีราจารย์

3.พระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ มีจำนวนที่กำหนดไว้ 20 รูป เป็นฝ่ายมหานิกาย 13 รูป และธรรมยุติกนิกาย 7 รูป ราชทินนามของพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น พระศาสนโสภณ พระญาณวโรดม พระพรหมมุนี พระสุธรรมาธิบดี

4.พระราชาคณะชั้นธรรม มีจำนวนที่กำหนดไว้ 45 รูป เป็นฝ่ายมหานิกาย 30 รูป และฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 15 รูป ราชทินนามของพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น พระธรรมโสภณ พระธรรมโกศาจารย์ พระธรรมราชานุวัตร

5.พระราชาคณะชั้นเทพ มีจำนวนที่กำหนดไว้ 86 รูป เป็นฝ่ายมหานิกาย 56 รูป และฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 30 รูป ราชทินนามของพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น พระเทพมงคลเมธี พระเทพวิสุทธิโมลี พระเทพเวที

6.พระราชาคณะชั้นราช มีจำนวนที่กำหนดไว้ 189 รูป เป็นฝ่ายมหานิกาย 135 รูป ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 54 รูป ราชทินนามของพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น พระราชปัญญาโมลี พระราชวิสุทธา จารย์ พระราชวรเมธี

7.พระราชาคณะชั้นสามัญ มีจำนวนที่กำหนดไว้ 477 รูป เป็นฝ่ายมหานิกาย 348 รูป ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 129 รูป ราชทินนามของพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น พระจริยเวที พระอินทโมลี พระวินัยการกวี พระราชาคณะชั้นสามัญนี้ยังแบ่งเป็น 4 ฝ่าย คือ ชั้นสามัญที่เป็นเปรียญ ชั้นสามัญเทียบเปรียญ ชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนา และชั้นสามัญยก ซึ่งชั้นสามัญยก สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษ

8.พระครู ตำแหน่งสมณศักดิ์ชั้นพระครู แบ่งเป็น 3 ชั้น คือ พระครูชั้นสัญญาบัตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้ง และพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ มีราชทินนามต่อท้าย เช่น พระครูสุนทรธรรมวิฑูร พระครูศาสนภารพินิจ, พระครูฐานานุกรม คือพระสงฆ์ที่พระราชาคณะตั้งแต่ชั้นราชขึ้นไปแต่งตั้งจากพระรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควรตามจำนวนที่มีระบุไว้ในสัญญาบัตร คือที่มีพระบรมราชานุญาตไว้ ไม่มีพัดยศและไม่มีสัญญาบัตร

และพระครูชั้นประทวน เป็นพระสงฆ์ที่คณะสงฆ์แต่งตั้ง เนื่อง จากได้ทำคุณประโยชน์แก่ศาสนา ประเทศชาติ ไม่มีราชทินนาม ไม่มีสัญญาบัตร มีแต่ใบประกาศแต่งตั้ง และไม่มีพัดยศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน