คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

อยากรู้ว่าจันอับขนมมงคลหน้าตาเป็นอย่างไร

เพลิน

ตอบ เพลิน

คอลัมน์สยามประเทศไทย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ อรรถาธิบายถึง “จันอับ” ไว้ในเรื่อง กล่อง “จันอับ” ใส่ขนม “แต้เหลี้ยว” ว่า จันอับ เพี้ยนจากคำจีน แปลว่า กล่องใส่ของ แต่ไทยหมายถึงขนมหวานอย่างแห้งของจีน มีหลายอย่าง อาจารย์เฉลิม ยงบุญเกิด อธิบายว่ามาจากภาษาจีนแต้จิ๋วว่า จิ๊งอั๊บ แปลว่า กล่องถวาย หรือ กล่องบูชา ซึ่งในกล่องใส่ขนมจันอับไหว้เจ้า (จากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิง นายเฉลิม ยงบุญเกิด เมรุวัดธาตุทอง วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2518)

ยุคกรุงศรีอยุธยามีขนมจันอับขายแล้ว มีโรงทำเครื่องจันอับด้วย หนังสือภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา (เอกสารจากหอหลวง) บันทึกว่า มีพวกจีนตั้งโรงทำเครื่องจันอับ และขนมแห้งจีนต่างๆ หลายชนิดหลายอย่างอยู่ตลาดน้อย ใกล้ประตูช่องกุดท่าเรือจ้าง ข้ามไปวัดพนัญเชิง

จันอับ สมัยรัชกาลที่ 5 หมายถึงขนม 6 อย่าง มีรายชื่อใน พระราชบัญญัติอากรจันอับ ร.ศ.111 ดังนี้คือ 1. น้ำตาลกรวด 2. ฟักถั่วก้อน ถั่วตัด งาตัด โซถึง ปั้นล่ำ ก้านบัว ขิงเคี่ยว น้ำตาลทราย ขนมเปี๊ยะ ข้าวพอง ตังเม ถั่วงา ขนมโก๋ทำด้วยแป้งขาวแป้งถั่ว 3. วุ้นแท่ง ตังเมหลอด น้ำตาลทรายเคี่ยวหล่อหลอมเป็นรูปต่างๆ 4. ขนมซาลาเปา ทำด้วยแป้งข้าวสาลี 5. ไพ่กระดาษจีน 6. เทียนไขเนื้อ
1
แต่เอกสารบางเล่มเรียกขนมจันอับเป็นภาษาจีนว่า “แต้เหลี้ยว” ทำให้รู้ว่าจันอับเป็นชื่อกล่องใส่ขนม ส่วนขนมในกล่องจันอับ เรียกแต้เหลี้ยว มีขนม 58 อย่าง (สูจิบัตรงานนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ.2425 สำนักพิมพ์ต้นฉบับ พิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2543) แล้วมีคำอธิบายดังนี้ “รวม 58 สิ่งนี้จีนเรียกว่า แต้เหลี้ยว ไทยเรียกว่า เครื่องจันอับ เปนขนมสำหรับจีนไหว้เมื่อเทศกาลตรุษจีน ศาจจีน ไม่ว่าตรุษ ศาจอันใด ต้องมีเครื่องแต้ เหลี้ยวนี้กำกับทุกตรุษ ทุกศาจ โดยที่สุดแต่วันชิวอิดจับเหงา ก็ต้องมีเครื่องแต้เหลี้ยวไหว้เจ้าทุกวันๆ แลเครื่องแต้เหลี้ยวนี้เปนของรับประทานกับน้ำร้อนน้ำชาด้วย”

“อนึ่ง ไทยจีนจะทำการวิวาหะมงคล ฤๅทำการบุญต่างๆ ก็มักใช้เครื่องแต้เหลี้ยวเปนของขันหมาก แลใส่ปากกระจาดก็มาก เครื่องแต้เหลี้ยวนี้ จีนทำขายที่ตำบลสำเพง ราคาซื้อขายที่โรงผู้ทำต้องชั่งน้ำหนักระคนปนกันทุกสิ่งหนักห้าชั่งจีนต่อบาท ราคาซื้อขายตามตลาดเครื่องแต้เหลี้ยวห่อหนึ่งหนักเจ็ดตำลึงจีนบ้าง แปดตำลึงจีนบ้าง ราคาห่อละเฟื้อง ที่เปนชิ้นเปนอันก็ขายกันอันละเฟื้อง อันละ 4 อัฐ อันละ 2 อัฐ อันละ 1 อัฐ ก็มี”

สูจิบัตรนี้มีชื่อขนมจำนวนหนึ่งที่ยังบอกไม่ได้ว่าคืออะไร? เช่น โซถึง อิ้วจ๊อ เม่งถึง เซียงเต้าถึง กิมเก๊กโซ กิมโซเบีย ฮองหงัน เปีย เบเตยโซ กึงกังเปีย เกียมโก จือถึงโก เบ๋เต้ยโก ฬ่อใจ ทึ่งกวย กิมกวย กิมหัม เกยปะโก เปียโถ มี่เต๊ก เล่งมึ่งเปีย เง่าฮุนปั้ง กาเปีย เตเปีย บ้วยกี ตือถึงโก เปากวน
2
ยังมีข้อมูลจากนิตยสารครัว ว่า ชนิดของแต้เหลี้ยว (เต่เหลียว) ในประเทศไทยพบได้ 2 ชนิดคือ แบบแต้จิ๋ว หรือกวางตุ้ง และแบบฮกเกี้ยน โดยจันอับแบบฮกเกี้ยนจะมีเครื่องประกอบทั้งหมด 8 ชนิด แต่ละชนิดจะเป็นขนมที่จันอันแบบที่แต้จิ๋วไม่มี ยกเว้นฟักเชื่อม จันอับแบบฮกเกี้ยนหาทานได้ยากมาก พบได้เฉพาะที่จังหวัดภูเก็ตเท่านั้น ส่วนจันอับแบบกวางตุ้ง หรือแต้จิ๋ว โดยรวมมีเครื่องประกอบทั้งหมดประมาณ 5 ชนิดหลัก เป็นที่นิยมมาก

วัฒนธรรมแต้เหลี้ยว หรือจันอับ ถือว่าเป็นขนมที่ขาดไม่ได้ในงานแต่งงานของชาวจีนและชาวไทย เพราะเชื่อว่าความหวานของจันอับจะทำให้ชีวิตคู่รักกันหวานชื่น จันอับเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของการส่งของหมั้นให้เจ้าสาว ในส่วนของการบูชาต่างๆ ชาวจีนก็ขาดไม่ได้ที่จะบูชาด้วยจันอับ ไม่ว่าจะเป็นงานมงคล หรืออวมงคล จันอับก็มีส่วนเกี่ยวด้วย สรุปคือจันอับมีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคมไทยและสังคมจีน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน