“สุรพงษ์ สุวรรณรินทร์”

“ใครมาเยอรมันแล้วไม่มาเยือนวังของพระเจ้าลุดวิกที่ 2 แห่งบาวาเรีย ก็เหมือนไม่ได้มาเยอรมัน”

“คุณหยก” สาวไทยมาเยอรมนีตั้งแต่เป็นนักเรียนจนปักหลักทำมาหากินในฐานะพลเมืองของที่นี่ ทำหน้าที่ไกด์กิตติมศักดิ์คณะศึกษาดูงานการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ของปตท. กระตุ้นความตื่นเต้นระหว่างเดินทางออกจากมิวนิกสู่เทือกเขาแอลป์

เพื่อเที่ยวชมปราสาทราชวังของพระเจ้าลุดวิกที่ 2

พระเจ้าลุดวิกที่ 2 กษัตริย์แห่งบาวาเรีย (มีพระชนม์ชีพ พ.ศ.2388-2429 ตรงกับรัชสมัยร.4 ต่อร.5 ของกรุงรัตนโกสินทร์) ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 18 พรรษา

ทรงเป็นกษัตริย์ที่สนพระทัยดนตรี กวี ศิลป์ ผูกพันกับวัง 4 แห่ง ประกอบด้วย

โฮเฮนชวานเกา(Hohenschwangau) วังของพระบิดา พระเจ้าแม็กซิมิลเลียนที่ 2 สถานที่ที่ทรงเติบโต และอีก 3 วังที่โปรดให้สร้าง คือ ลินเดอร์โฮฟ (Linderhof), แฮร์เรนคีมเซ (Herren chiemsee), นอยชวานชไตน์ (Neuschwanstein)

ประมาณการว่าทรงใช้เงินสร้างวังทั้ง 3 แห่ง รวมแล้ว 350 ล้านยูโร คิดเป็นเงินไทย (คูณด้วย 38) เท่ากับ 13,300 ล้านบาท

นอยชวานชไตน์ วังใหญ่โตโอ่อ่า ต้นแบบปราสาทวอลต์ดิสนีย์ อันคุ้นหน้าคุ้นตากันทั้งโลก วังแห่งนี้พระเจ้าลุดวิกที่ 2 สร้างเสร็จ 3/4 ใช้เวลาประทับที่นี่ 6 เดือน

แฮร์เรนคีมเซ วังวิจิตรอลังการเลียนแบบพระราชวังแวร์ซายส์ ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส กษัตริย์ที่พระเจ้าลุดวิกที่ 2 คลั่งไคล้เป็นไอดอล แต่พระองค์ทรงมีเวลาประทับ ณ วังแห่งนี้เพียงน้อยนิดแค่ 10 วัน

ลินเดอร์โฮฟ วังในสวนสวยงาม พระองค์ทรงประทับยาวนานที่สุด 8 ปี มีความสุขสุดๆ และทุกข์สุดๆ กับ ริชาร์ด วากเนอร์ คีตกวีนักดนตรีหนุ่มคู่พระทัย

ลินเดอร์โฮฟ (Linderhof Palace) ปราสาทสไตล์โรโคโค ตั้งอยู่ใกล้เมืองโอเบอร์อัมเมอร์เกา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้น บาวาเรีย ใกล้ชายแดนเยอรมนีกับออสเตรียในปัจจุบัน เป็นวังหลังเล็กที่สุดที่พระเจ้าลุดวิกที่ 2 โปรดให้สร้าง

ก่อนสร้างวังแห่งนี้ พระองค์ทรงรู้จักพื้นที่บริเวณนี้ดี จากการออกล่าสัตว์ตามเทือกเขาแอลป์กับพระบิดา

พระเจ้าลุดวิกที่ 2 ย่อพระราชวังแวร์ซายส์ ยกพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส มาไว้ ณ ลินเดอร์โฮฟ

วันที่ไปเยือน อากาศช่วงปลายเดือนพ.ค. อุณหภูมิ 24-25 องศา ระหว่างเดินจากจุดจอดรถลัดเลาะตามไหล่เขาเต็มไปด้วยต้นหญ้าเขียวสลับไม้ใหญ่เมืองหนาว ระยะทางราวๆ 2 ก.ม.ทำเอาเหงื่อชุ่ม

วันนั้นนักท่องเที่ยวยุโรปมากันเยอะ แต่ยังน้อยกว่าอาคันตุกะจากเอเชีย เสียงล้งเล้งของชาวไชนีส ประชันเสียงเจื้อยแจ้วของพี่น้องไทยแลนด์ ต่างตื่นตาตื่นใจบรรยากาศรอบนอกอันสวยงามของเหล่าพรรณพืช สวนดอกไม้ น้ำพุ รูปปั้น สถาปัตยกรรม

การเข้าชมลินเดอร์โฮฟ จัดคิวเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 15-20 คน เมื่อเจ้าหน้าที่รู้ว่ากลุ่มพวกเรามาจากเมืองไทย ก็เรียกประชุมด่วนก่อนหายเข้าหลังม่านแล้วออกมาพร้อมกับ “เทปเสียงบรรยายภาษาไทย” ทำเอาชาวคณะปลื้มปริ่ม

ทันทีที่ประตูวังบานใหญ่เปิด สิ่งแรกที่เจอคือพระบรมรูปทรงม้า พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ตั้งตระหง่านก่อนขึ้นบันไดสู่ชั้นสองเพื่อทัวร์ห้องต่างๆ

เริ่มจากห้องทรงดนตรี โดดเด่นด้วยเปียโนแกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจง มุมเสาขอบคานเหลืองอร่ามด้วยทองคำ 24 กะรัต (ทองคำเนื้อบริสุทธิ์ 99.99%) ผ้าม่าน ผ้ารองนั่งทอด้วยไหมชั้นดีฝีมือช่างฝรั่งเศส มีนกยูงหล่อเสมือนจริงอยู่ข้างพระที่นั่ง

ห้องบัลลังก์ พระที่นั่งแกะสลักจากหินอ่อนชั้นเยี่ยมของอิตาลี เหนือโต๊ะทรงงานมีตราประจำตระกูลถักทอด้วยไหมเด่นเป็นสง่า เตาผิงหินอ่อนสีเทาจากอิตาลี ประดับด้วยพระบรมรูปทรงม้า พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และ 15 ด้านซ้าย-ขวา ตรงข้ามกับโต๊ะของขวัญจากพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย

ห้องบรรทม ห้องใหญ่ที่สุดของวัง ตกแต่งสีน้ำเงิน สีโปรดของเจ้าของ โคมไฟระย้าพุ่มใหญ่สั่งทำพิเศษจากออสเตรีย

เนื่องจากพระเจ้าลุดวิกที่ 2 ทรงมีพระวรกายสูงโปร่ง 192 ซ.ม. แท่นพระบรรทมจึงต้องจัดทำเป็นการเฉพาะ ยาวถึง 260 ซ.ม. ประดิดประดอยร้อยถักทองคำอะร้าอร่าม ประดับด้วยเครื่องลายครามล้ำค่าหลายชิ้นทั่วห้อง

ห้องทรงพระอักษร บริเวณเตาผิงแขวนโคมไฟระย้าทำจากงาช้าง สวยงามแบบศิลปะราชวงศ์บูร์บงของฝรั่งเศส โคมไฟดวงนี้ถือเป็นสิ่งมีค่ายิ่งของปราสาท ลวดลายของโต๊ะด้านซ้ายขวา บอกเล่าเรื่องราวราชวงศ์ฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 18 ส่วนพื้นห้องใช้ไม้โอ๊กเนื้อดีจากป่าประเทศบราซิล

มุมห้องด้านขวาใกล้หน้าต่างคือตู้หนังสือ สวยงามและหรูหรามาก เนื่องจากพระองค์ทรงรักการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์และวรรณกรรม

บนโต๊ะหนังสือมีแจกันเครื่องปั้นของฝรั่งเศส และนาฬิกาลูกตุ้มสมัยศตวรรษที่ 18 จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีอายุมากกว่า 250 ปี ปัจจุบันนาฬิกาเรือนนี้ยังหมุนบอกเวลาได้อย่างเที่ยงตรง

ภาพเขียนบนเพดานแสดงให้เห็นถึงการเกิดของเทพีวีนัส เทพแห่งความรัก

ห้องฉลองพระองค์ โทนสีชมพูหวานๆ

ห้องเสวย ห้องพิเศษที่ทรงให้จัดสร้างในช่วงเวลาโทมนัสอย่างที่สุด เป็นความทุกข์ที่มีต่อริชาร์ด วากเนอร์ คีตกวีนักดนตรีหนุ่มคู่พระทัย ซึ่งสร้างเรื่องให้ทรงสูญเสียพระทัยครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งครั้งรุนแรงถึงขั้นหลบลี้หนีหาย ยังความทุกข์โทมนัสแก่พระองค์ยิ่งนัก

พระเจ้าลุดวิกที่ 2 ทรงไม่ประสงค์พบปะผู้ใด เก็บพระองค์อยู่ในลินเดอร์โฮฟตามลำพัง พระองค์ให้จัดสร้างห้องเสวยและโต๊ะเสวยเป็นกรณีพิเศษ

โต๊ะเสวยจะเลื่อนขึ้นลงระหว่างชั้นห้องเสวยกับชั้นล่าง เวลาพระองค์จะเสวยก็จะเลื่อนโต๊ะเสวยลงไปชั้นล่าง เพื่อให้ข้าราชบริพารจัดวางพระกระยาหาร จากนั้นโต๊ะเสวยจะเลื่อนขึ้นไปยังห้องเสวย หลังจากพระองค์เสวยพระกระยาหารเสร็จก็จะเลื่อนโต๊ะเสวยลงไปชั้นล่างให้ข้าราชบริพารจัดเก็บ ก่อนจะเลื่อนโต๊ะเสวยกลับขึ้นมา พระองค์ปฏิบัติอย่างนี้จนถึงวันที่ไม่ได้ประทับ ณ ลินเดอร์โฮฟ

วาระสุดท้ายของพระเจ้าลุดวิกที่ 2 พระองค์ถูกเหล่าขุนนางลงมติให้หมอเข้าถวายการตรวจ ซึ่งหมอวินิจฉัยว่าพระองค์ทรงไม่ปกติ ไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้

ระหว่างเสด็จประทับ ณ นอยชวานชไตน์ เดือนที่ 6 ขุนนางวางแผนให้พระองค์ขึ้นเรือออกไปทะเลสาบสตาร์นเบิร์ก ต่อมามีคนพบพระองค์สิ้นพระชนม์ในสภาพจมน้ำ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2429 ขณะพระชนมายุ 40 พรรษา

แม้ปราสาทราชวังที่พระเจ้าลุดวิกที่ 2 สร้างขึ้น จะใช้เงินทองมากมายมหาศาลเป็นที่กล่าวขวัญของอาณาประชาราษฎร์

ทว่าปัจจุบัน ลินเดอร์โฮฟ, แฮร์เรนคีมเซ, นอยชวานชไตน์ ของพระองค์ คือสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ทำรายได้เข้าประเทศเยอรมนีเป็นอันดับหนึ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน