รายงานพิเศษ

โรคหัวใจที่คนไทยเป็นมากที่สุดคือ หลอดเลือดหัวใจตีบ โดยโรคนี้เกิดจากการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดหัวใจ และการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย จึงทำให้มีอัตราเสียชีวิตสูง และต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วนเฉียบพลัน

สถิติผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 150 ต่อวัน หรือปีละ 54,530 คน สถิติ ผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 17.7 ล้านคนต่อปี และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับแรกๆ ของคนไทย ซึ่งมีสาเหตุหลักจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตสุ่มเสี่ยงหรือจากพันธุกรรม

โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นโรคของผู้ใหญ่ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบได้สูงตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ในช่วงวัยเจริญพันธุ์พบโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ชายได้สูงกว่าในผู้หญิง แต่หลังจากวัยหมดประจำเดือนถาวรแล้วทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ใกล้เคียงกัน

นพ.ทวนทศพร สุวรรณจูฑะ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวถึงวิธีดูแล ป้องกันก่อนป่วย ว่า “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบนี้มักไม่แสดงอาการเมื่อเริ่มเป็นโรค หรือเมื่อหลอดเลือดยังตีบไม่มาก ฉะนั้นวิธีป้องกันและดูแลหัวใจที่ดีที่สุดคือ ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และจัดการความเครียด จำกัดอาหารไขมัน กินอาหารมีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด และควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป

การปรับวิถีการใช้ชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจยังเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องการออกกำลังกายต้องระมัดระวังตามสุขภาพร่างกาย กินยาตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ เช่น ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดไขมันในเลือด แพทย์อาจวินิจฉัยการขยายหลอดเลือดด้วยเทคนิคต่างๆ และอาจเป็นการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ

นอกจากนั้นผู้ป่วยต้องพบแพทย์ตรงตามนัดเสมอ และเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม ควรรีบไปพบแพทย์ ที่สำคัญเมื่อมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกมากอาจเจ็บร้าวขึ้นขากรรไกร ไปยังหัวไหล่ หรือแขน เหนื่อย หายใจขัด ชีพจรเต้นอ่อน เต้นเร็ว เหงื่อออกมาก วิงเวียนจะเป็นลม หยุดหายใจ หรือโคม่า ให้รีบไปพบแพทย์ หรือไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน

ทั้งนี้มี 4 สัญญาณเสี่ยงโรคหัวใจ หากใครมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์

1.เหนื่อยง่ายเมื่อออกแรงหรือออกกำลัง

2.เจ็บแน่นหน้าอกเมื่อใช้กำลังเพิ่มขึ้น หรือเมื่อมีความเครียด ในผู้หญิงมักไม่ค่อยพบมีอาการนี้ อาการอาจร้าวไปที่ขากรรไกร ไหล่ และหรือแขนด้านใดก็ได้แต่มักเป็นด้านซ้าย

3.อาการของโรคหัวใจล้มเหลว (หัวใจวาย) เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว มีอาการบวมหน้า แขน ขา

4.มีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง

ทั้งนี้ โรงพยาบาลพญาไท 2 เล็งเห็นภัยเงียบจากโรคหัวใจ จึงได้จัดทำคู่มือ “รู้ทันความจริง เลี่ยงโรคหัวใจ” ในฉบับออนไลน์ สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.phyathai.com/page.php?id=99

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน