ทร. เปิดตัวโครงการวิจัยเรือดำน้ำขนาดเล็ก ในงานนาวีวิจัย 2018 สร้างองค์ความรู้ให้กำลัง ด้าน ผบ.ทร.ชื่นชมความทุ่มเทของนักวิจัย

ที่หอประชุมกองเรือ พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)เป็นประธานเปิดงานนาวีวิจัย 2018 “ก้าวต่อไปเพื่อเป็นหนึ่งในท้องทะเล” ซึ่งสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ จัดขึ้น โดยได้กล่าว ชื่นชมความทุ่มเท ในการต่อยอด งานวิจัย และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้กองทัพเรือของไทยมีมาตรฐาน และมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับสากลต่อไป

ทั้งนี้ ในช่วงของการเปิดงานอย่างเป็นทางการ ผบ.ทร.ต้องเดินผ่านเครื่องตรวจจับ เพื่อยืนยันตัวตนของตนเอง ก่อนเข้างานที่เป็นพื้นที่ควบคุมได้ ถือเป็นการสาธิตผลงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถทางการทหาร และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศตามโมเดลไทยแลนด์ 4.0

ซึ่งการดำเนินงานของกองทัพเรือ และการสร้างผลงานเพื่อเตรียมความพร้อมอยู่เสมอนี้ นับเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยให้ประเทศไทยปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีมูลค่าสูงถึง 24 ล้านล้านบาทต่อปีได้อย่างมีศักยภาพ

จากนั้น ได้มอบรางวัลยกย่องเกียรติคุณนักวิจัยกองทัพเรือ จำนวน 7 รางวัล ได้แก่ ผลงานการวิจัยและพัฒนาระบบควบคุมและอำนวยการยิงปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตร ของหน่วยนาวิกโยธิน ผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์ผลงานสายรัดข้อมือช่วยชีวิตไทยแลนด์ 4.0

ผลงานเครื่องช่วยฝึกจำลองสถานการณ์การใช้อาวุธในระยะประชิดสำหรับชุดปฏิบัติการพิเศษ ผลงานโปรแกรมรายงานตำบลที่อัตโนมัติบนแผนที่2 มิติและ3 มิติ แบบ Real time ผลงานสายอากาศฮอร์นอัลตราไวด์แบนด์แบบสันคู่สำหรับย่านเอสและซีแบนด์ สร้างด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ และผลงานทางด้านหลักการอีก2 ผลงาน

นอกจากนี้ ผบ.ทร.ยังได้รับชมการสาธิตการปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกัน ด้วยการบูรณาการผลงานวิจัยกองทัพเรือ เช่น อากาศยานไร้คนขับระบบควบคุมบังคับบัญชาแบบพกพา หมวกทหารราบอัจฉริยะและเยี่ยมชมงานวิจัย

พล.ร.อ.นริส กล่าวว่า งานดังกล่าวจัดขึ้นทุกปี โดยในปี2018 นี้จุดเด่นคืออุปกรณ์ที่ใช้ในการซ้อมรบและสามารถนำมาช่วยเหลือสร้างประโยชน์ในด้านอื่นๆได้ ซึ่งทุกหน่วยของกองทัพเรือพยายามหาวัสดุอุปกรณ์ ให้เป็นไปตามแนวทางในการพัฒนาให้ตรงตามความต้องการและ เป็นประโยชน์ที่จะนำไปใช้งานกับประเทศต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานดังกล่าวได้มีบูทโครงการวิจัยและพัฒนาสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กของ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร ทร.โดยการดำเนินการโครงการดังกล่าวมีระยะเวลา 7ปี แบ่งเป็นการศึกษาวิจัย 4 ปีการจัดสร้าง 2 ปี และการฝึก 2 ปี วงเงินวิจัย 193 ล้านบาท

โดยวัตถุประสงค์ของโครงการคือให้บุคลากรได้รับองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการออกแบบซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการความมั่นคงและการป้องกันประเทศ. เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นความลับและบางสถานการณ์ไม่สามารถจัดซื้อได้จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้ขึ้นภายในประเทศเองเพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเองรวมทั้งเป็นประโยชน์ในการดำเนินโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือต่อไป

น.อ.ดร. สัตยา จันทรประภา นอ. สัตยา จันทรประภา รองผบ.รร. นายทหารเรือชั้นต้น ในฐานะ หัวหน้านายทหารโครงการ ระบุว่า เรือดำน้ำขนาดเล็กที่ได้มีการวิจัย ขนาด 150-300 ตันสามารถบรรจุกำลังพลประจำเรือได้ประมาณ 7 นาย ปฏิบัติการ 300 ไมล์ทะเล ไม่มีการติดอาวุธ โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาในระยะใกล้เคียงกับการจัดหาเรือดำน้ำขนาดใหญ่ที่กองทัพเรือมีการจัดหา เข้าประจำการ ต้องแยกทั้งสองโครงการออกจากกัน

โดยเรือดำน้ำขนาดเล็ก จะใช้ในภารกิจการส่งหน่วยปฏิบัติพิเศษ การหาข่าว พื้นที่ปฏิบัติการอยู่ในประเทศ แนวทางดำเนินการไม่ได้มีประเทศใดเป็นต้นแบบ เพราะในแต่ละประเทศ concept ในการต่อเรือแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จะนำมาใช้ริเริ่มไม่ได้ ดังนั้น การวิจัยจึงเริ่มต้นจากศูนย์

โดยมีเป้าหมายว่าใช้ในภารกิจอะไรใครเป็นผู้ใช้โดยนำหลายหน่วยงานมารวมเป็นคณะ ประกอบด้วย กรมสรรพาวุธ กองเรือดำน้ำ กองการฝึก กองเรือยุทธการ เป็นต้น และในปัจจุบันก็มีหลายประเทศใช้เรือดำน้ำขนาดเล็กแล้ว เช่นอิตาลี โคร เอเชีย แอฟริกาใต้ เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การป้องปราม ซึ่งแแต่ละประเทศจะกำหนดยุทธศาสตร์แตกต่างกันไป

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน