ปฤษณา กองวงค์

สํานักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และลำปาง ร่วมกันจัดนิทรรศการและกิจกรรมสถานศึกษาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการจัดการขยะเชิงรุก ในงาน “Lanna Expo 2018” ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ เมื่อไม่นานนี้

ภายในงานเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ จัดบูธบอกเล่าโครงการและกิจกรรมในการบริหารจัดการขยะเชิงรุกที่ส่งผลดีสู่ชุมชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม

อาทิ โรงเรียนบ้านหนองยาว อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ จัดทำโครงการ “ถุงนมมหัศจรรย์ สร้างสรรค์ตามรอยพ่อ” นำถุงนมที่เหลือทิ้ง มารีไซเคิลกลายเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ โรงเรียนบ้านวังโป่ง อ.วังเหนือ จ.ลำปาง จัดทำ “ปุ๋ยหมักคอนโด” ขนาดใหญ่ นอกจากทำใช้ในโรงเรียนแล้วยังใช้ในชุมชนด้วย โรงเรียนบ้านแม่แดดน้อย อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ จัดทำโครงการ “ผ้าห่มฟอยล์ อุ่นรักพิทักษ์หนาว” นำขยะจากถุงพลาสติกและถุงขนมมาทำผ้าห่มคลายหนาวและหมอน

ขณะที่ โรงเรียนเมืองมายวิทยา อ.เมือง จ.ลำปาง จัดทำโครงการ “กระถางเพาะชำ กู้โลก” โดยนำกาบมะพร้าว มูลสัตว์ ปุ๋ยหมักชีวภาพ มาผสมผสานกันแล้วอัดขึ้นรูปกลายเป็นกระถางต้นไม้ปลูกลงดินแทนการใช้ถุงเพาะชำพลาสติก โรงเรียนวัดศรีดอนชัย อ.บ้านธิ จ.ลำพูน นำเสนอโครงการ “ดินผสมพร้อมปลูก ดินดีศรีดอนชัย” เพราะใบต้นจามจุรีในโรงเรียนมีมาก ซึ่งมีสารอาหารในกลุ่มไนโตรเจน เมื่อนำมาผสมกับดินและปุ๋ยคอกจึงกลายเป็นดินผสมพร้อมปลูกที่มีคุณภาพ

โรงเรียนเทศบาล 7 (ศิรินาวินวิทยา) จ.ลำปาง แก้ปัญหาอุปกรณ์การเรียนไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ตู้ไม้ถูกปลวกกัดกินเสียหาย ด้วยโครงการ “สารสกัดจากใบสักป้องกันปลวก” ในรูปแบบผลิตภัณฑ์น้ำมันและแว็กซ์ช่วยเคลือบเนื้อไม้ป้องกันปลวกแทนการใช้สารเคมี กากและเศษใบไม้เหลือทิ้งหลังการสกัดยังนำมาประดิษฐ์เป็นชิ้นงานเก๋ๆ








Advertisement

โรงเรียนบ้านปวงคำ (ประชาอุทิศ) อ.ลี้ จ.ลำพูน ทำปุ๋ยหมักจากใบไม้ โดยสร้างกรงล้อเหล็กขนาดใหญ่ในการหมุนพลิกกลับเพื่อเติมอากาศ ช่วยย่นระยะเวลาในการหมักปุ๋ยให้เร็วขึ้นอีกเท่าตัว ในชื่อโครงการว่า “กงล้ออำมหิตพิชิตใบไม้มฤตยู” โรงเรียนแม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นำเศษอาหารและใบไม้แห้งจำนวนมากจัดทำโครงการ “Fertlizer From Food” ขยายผลสู่ชุมชนโดยรอบ ขณะที่โรงเรียนขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน จัดทำโครงการ “ไม้สวยด้วยปุ๋ยดอยสน”

องุ่น ด.ญ.ชนิกานต์ ลุงติง คำอิง ด.ญ.จิราพร ดอยคำ และ หอมนวล ด.ญ.ณิชกานต์ เทวา จากโรงเรียนบ้านหนองยาว ต.สูงเม่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ร่วมกันบอกเล่าถึงโครงการ “ถุงนมมหัศจรรย์ สร้างสรรค์ตามรอยพ่อ” ว่า โรงเรียนมีขยะเยอะ ส่วนมากเป็นถุงพลาสติกและถุงนม นำมาตัด ล้าง ผึ่งให้แห้ง แล้วพับสานเป็นตะกร้า หมวก กระเป๋า เสื่อ เปลญวน ประดิษฐ์เป็นงานสร้างสรรค์ อยากให้ชุมชนสะอาด ไม่มีเศษขยะและพลาสติก จะได้ปลอดภัยจากเชื้อโรค

ด้าน ปอนด์ ด.ช.ปรเมษฐ์ มีซอง และ ปอ ด.ช.ธีรภัทร วงศ์เทพ ชั้นป.5 โรงเรียนบ้านวังโป่ง ต.วังใต้ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง เล่าถึงโครงการ “ปุ๋ยหมักคอนโด” ว่านำท่อซีเมนต์มาเจาะรู ใส่ตะแกรง นำใบไม้แห้งมาใส่ในท่อซีเมนต์คอนโด ใช้เวลาหมัก 3-6 เดือน อัดให้แน่นด้วยการเหยียบ ใส่มูลสัตว์ โรยปุ๋ยยูเรีย 2 กำมือ เพิ่มไนโตรเจน ใส่สารเร่ง อัตราส่วน 1 ซอง น้ำ 20 ลิตร รดน้ำให้ทั่ว ทำซ้ำๆ จนเต็มคอนโด และรดน้ำซ้ำๆ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความชื้นและฤดูกาล คอนโด 3 ชั้นได้ปุ๋ยเยอะมาก นำไปใช้ในโรงเรียนหรือจำหน่ายในชุมชน ปุ๋ยที่ได้นำมาใส่พืชหรือต้นไม้ในสวนทำให้ออกดอกผลเจริญเติบโตเร็ว

เยาวชนปกาเกอะญอ เส่เอพอ ด.ญ.โชติภา เลิศละอองดาว อายุ 14 ปี และ โนมู ด.ญ.พิมพ์นารา สมัยไพรพัฒน์ ชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านแม่แดดน้อย อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ เล่าถึงโครงการ “ผ้าห่มฟอยล์ อุ่นรักพิทักษ์หนาว” ว่าโรงเรียนอยู่ในพื้นที่สูง ห่างจากตัวเมืองกว่า 100 ก.ม. อากาศหนาวตลอดปี โรงเรียนมีถุงขนมประเภทฟอยล์เยอะมาก จึงนำมาตัดเย็บเป็นผ้าห่ม เศษที่เหลือตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วยัดหมอน ผ้าห่มฟอยล์ให้ความอบอุ่นมาก ต่อไปจะทำเป็นถุงนอนใช้ที่โรงเรียนและที่บ้าน

“ทุกวันนี้ไม่ใช่เพียงเราที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม สัตว์อีกมากมายก็ได้รับผลกระทบ จึงควรแยกขยะก่อนทิ้ง ขยะที่เราคิดว่าไม่มีค่า สามารถสร้างมูลค่าได้ถ้ารู้จักวิธีใช้” โนมูกล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน