ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดง “โขน” ซึ่งนับเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงอันเก่าแก่ของไทย อีกทั้งเพื่อให้คนรุ่นใหม่ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่สืบไป โดยเว้นการแสดงเป็นระยะเวลา 2 ปี เนื่องจากอยู่ในช่วงแห่งความอาลัย

ในปี 2561 นับเป็นวาระพิเศษฉลองครบรอบ 1 ทศวรรษการจัดการแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ โดยเลือกบทโขนรามเกียรติ์ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” มาจัดแสดง โดยจัดงานแถลงข่าวพร้อมการแสดงตัวอย่างขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าวว่าที่ผ่านมา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดการแสดงโขนรามเกียรติ์ 7 ตอนด้วยกัน ได้แก่ ชุด “ศึกพรหมาศ” ในปี 2550 และ 2552, ชุด “นางลอย” ในปี 2553, ชุด “ศึกมัยราพณ์” ในปี 2554, ชุด “จองถนน” ในปี 2555, ชุด “ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์” ในปี 2556, ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” ในปี 2557 และ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ” ในปี 2558 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก

“เหตุที่ปีนี้เลือกจัดแสดงตอนพิเภกสวามิภักดิ์ เนื่องจากในตอนนี้มีหลายส่วนที่ยากต่อการแสดงและการสร้างฉาก จึงไม่เคยถูกนำมาจัดแสดงเลย แต่เนื่องจากที่ผ่านมาจะมีคนอยากรู้ว่าเพราะเหตุใดพิเภกซึ่งเป็นน้องทศกัณฐ์จึงแปรพักตร์ เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครทราบ จึงอยากนำมาแสดงให้ทุกคนชม อีกทั้ง รามเกียรติ์เป็นวรรณกรรมที่มีธรรมะสอดแทรกอยู่ พิเภกเป็นตัวละครที่มีธรรมะในตัวสูง สามารถให้ข้อคิดต่างๆ แก่ผู้ชมได้มากมาย” ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์กล่าว

ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงฯ กล่าวต่อว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเล็งเห็นความสำคัญในโขนนาฏศิลป์ชั้นสูงของชาติ ทรงอยากกระตุ้นให้คนไทยเห็นความสำคัญและช่วยกันอนุรักษ์ไว้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูโขนและนำมาจัดแสดงให้ประชาชนชม ในการแสดงโขนต้องใช้ศิลปวัฒนธรรมหลายแขนงร่วมกัน ทุกฝ่ายจึงมีส่วนร่วมต้องศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ และฝึกฝนอยู่ตลอด เป็นการรักษาศิลปะไว้ได้อีกทางหนึ่ง

ภายในงานจัดแสดงตัวอย่างบางส่วนของโขน ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ที่อ่อนช้อยสวยงามอลังการด้วยแสงสีเสียงและฉากที่จัดทำขึ้นใหม่อย่าประณีตงดงาม

อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดง เผยว่าการแสดงในครั้งนี้จัดให้มีการคัดเลือกนักแสดงตัวเอกรุ่นใหม่เมื่อปี 2559 เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงอันยิ่งใหญ่ โดยคัดเลือกจากนักเรียน นักศึกษา ทั้งจากวิทยาลัยนาฏศิลป และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่พร้อมใจกันมาร่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไทย

“การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์ นำบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ฉบับต่างๆ อาทิ บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 6 และบทโขนของกรมศิลปากรที่เคยจัดแสดง มาประมวลในส่วนที่มีชั้นเชิงการแสดง และนำความไพเราะของบทเพลงมาเรียงร้อยปรับปรุงขึ้นใหม่ แบ่งเป็นตอนต่างๆ ได้แก่ องก์ที่ 1 สุบินนิมิต ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พิเภกถูกขับ ตอนที่ 2 พิเภกลาชายาและธิดา ตอนที่ 3 เนรเทศ และ องก์ที่ 2 ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พบนิลเอก ตอนที่ 2 สวามิภักดิ์ ตอนที่ 3 มณโฑทูล ตัดศึก ตอนที่ 4 สนามรบ และตอนที่ 5 แก้ หอกกบิลพัท ผู้ชมจะได้ชม การแสดงที่ยังคงความวิจิตรและ กระบวนท่ารำตามแบบฉบับโขนหลวง” อาจารย์ ประเมษฐ์กล่าว

การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่เปิดคัดเลือกนักแสดงจะมีนักเรียนจากโรงเรียนทั่วประเทศเข้ารับการคัดเลือก โดยล่าสุดมีมากถึง 800 คน ขณะที่ผู้เข้าชมการแสดงเพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นกัน นอกจากการสืบสานและอนุรักษ์ศิลปะการแสดงของไทยแล้ว นับเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวที่บุตรหลานมักจะพาผู้ใหญ่สูงวัยเข้าชมการแสดงในทุกครั้ง ก่อเกิดเป็นภาพที่อบอุ่นสวยงาม

ทั้งนี้ การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริม ศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กำหนดจัดการแสดงระหว่าง วันที่ 3 พฤศจิกายน- 5 ธันวาคม 2561 ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ทุกสาขา โทร. 0-2262-3456 หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 420, 620, 820, 1,020, 1,520 และ 1,820 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 220 บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เฟซบุ๊ก Khon Performance โขนพระราชทาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน