ตะลุยย่างกุ้ง ชมตึกยุคอาณานิคม ก่อนไม่มีโอกาส

โดย ชญานิศ อิทธิพงศ์เมธี

“จะไปพม่าเหรอ ไปที่นี่นะ ไหว้หลวงพ่อทันใจ ต่อด้วยเจดีย์นี้ แล้วก็อย่าลืมไปไหว้พระธาตุ…”

เมื่อพูดถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างมากพม่า ภาพแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวของใครหลาย ๆ คนก็คงไม่พ้นวัดวาอาราม เจดีย์สีทองเหลืองอร่าม กับชาวพุทธที่แห่กันเข้าไปสักการะขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์

แต่พม่ามีอะไรมากกว่านั้น

เป็นเวลาร้อยกว่าปี (ปีพ.ศ. 2367 – 2491) ที่พม่าตกเป็นเมืองในอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ถึงแม้พม่าจะได้รับอิสรภาพมาแล้วถึง 70 ปี แต่อดีตเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษก็ได้ทิ้งร่อยรอยรากฐานและอิทธิพลให้พวกเราได้เห็นกันถึงทุกวันนี้

สถานที่ที่นายพลอองซานกับรัฐมนตรีอีก 6 คนถูกลอบสังหาร อาคารสำนักงานรัฐมนตรี (Ministers’ Building) เริ่มสร้างในปีค.ศ. 1889 และเสร็จสิ้นในปีค.ศ. 1905 ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงบูรณะตึกให้เป็นพิพิธภัณฑ์

อย่างการจัดผังเมืองย่างกุ้งให้เป็นระเบียบโดยการตัดถนนล้อมรอบอาคารต่าง ๆ เป็นตารางสี่เหลี่ยม และตึกสถาปัตยกรรมแบบยุโรป หรือที่บางคนเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ตึกฝรั่ง” ที่มีจำนวนมากมายนับหลายร้อยอาคาร จนเมืองย่างกุ้งได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีตึกยุคอาณานิคมมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

อาคารมหาตมะคานธี Mahatma Gandhi Hall (อดีตออฟฟิศของหนังสือพิมพ์ The Rangoon Times)

เมื่อเดินไปตามใจกลางเมืองย่างกุ้งที่คึกคัก แน่นอนว่าคุณจะพบกับตึกขนาดใหญ่ ที่ถึงแม้จะดูเก่าแก่ ร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังสง่างามและเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ เต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ศาลสูง (High Court Building) อาคารไปรษณีย์กลาง อาคาร Sofaer’s Building และโรงหนัง Shae Saung Cinema สุดคลาสสิกที่ยังคงให้บริการตั้งแต่ยุค ’60 จนถึงปัจจุบัน

ศาลสูงเมืองย่างกุ้ง สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1905 ก่อนเสร็จสิ้นในปีค.ศ. 1911

อาคาร Sofaer’s Building สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1906 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของแกลเลอรี่ชื่อ Lokanat Art Gallery คาเฟ่และร้านอาหาร

อาคารไปรษณีย์กลาง สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1908

โรงภาพยนตร์ Shae Saung Cinema สร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษ 1960

อย่างไรก็ตาม ทางการของพม่าไม่ได้ให้ความสนใจในการอนุรักษ์อาคารเหล่านี้เท่าที่ควร เนื่องจากการบูรณะซ่อมแซมจำเป็นต้องใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูง ทำให้ตึกจำนวนไม่น้อยถูกรื้อถอนออกไปอย่างน่าเสียดาย

ธนาคาร Ayeyarwady บนถนน Maha Bandoola Garden เริ่มสร้างขึ้นในปีค.ศ. 1908 และเสร็จสิ้นในปีค.ศ. 1910 เดิมเคยเป็นห้างสรรพสินค้าชื่อ Rowe & Company ซึ่งเน้นขายสินค้านำเข้าจากยุโรป

โรงภาพยนตร์ Nay Pyi Taw สร้างขึ้นในช่วงปีค.ศ. 1960

แต่ชะตากรรมของตึกยุคอาณานิคมในย่างกุ้งก็ยังไม่ถึงกับหมดหวังซะทีเดียว เพราะมีองค์การไม่แสวงหากำไรอย่าง Yangon Heritage Trust และกลุ่มสถาปนิกอีกจำนวนหนึ่ง ที่ออกมาเรียกร้องให้ทางภาครัฐและประชาชนช่วยกันอนุรักษ์อาคารโบราณเหล่านี้ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองย่างกุ้ง

มัสยิด Surti Sunni Jamah คาดว่าสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1860

โรงแรมสแตรนด์ (Strand Hotel) สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1901

อาคาร Government Press Building สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1912

มัสยิด Bengali Sunni Jameh คาดว่าสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19

อาคารไปรษณีย์และโทรคมนาคมของย่างกุ้ง (ในอดีตเป็นสำนักงานโทรเลข) สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1911

ธนาคารเศรษฐกิจของพม่า สาขาที่ 3 สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1914 ในอดีตเป็นที่ตั้งของธนาคาร Imperial Bank of India

อาคารที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้ง Yangon Divisional Court และ Department of Pensions สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1900 และเสร็จสิ้นในปีค.ศ. 1907

ตะลุยย่างกุ้ง

ตึกยุคอาณานิคมบนหัวมุมถนน Pansodan และถนน Maha Bandula ที่เพิ่งได้รับการซ่อมแซมและทาสีเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

อาคารไม่ทราบชื่อ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่างกุ้ง

ผู้เขียนใช้เวลา 1 วันเต็มในการเดินรอบใจกลางเมืองย่างกุ้งเพื่อเก็บภาพตึกยุคอาณานิคมต่าง ๆ แม้บางอาคารจะถูกทุบทิ้งหรือโดนปิดล้อมสำหรับการก่อสร้างไปบ้างแล้วก็ตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน