เพื่อส่งเสริมให้เบญจรงค์ของไทยใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันในแบบ Today”s Life Crafts ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดกิจกรรมเปิดตัวผลงานเบญจรงค์ไทยในมุมมองใหม่ ปีที่ 2 เมื่อไม่นานนี้ ที่อาคารดูจิตแล้วอะไรก็ช่าง/ ช่างชุ่ย

เป็นการทำงานร่วมกันของ 11 ชุมชนช่างเบญจรงค์และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมเครื่องเบญจรงค์ชื่อดังจากทั่วประเทศ ได้แก่ แดงเบญจรงค์ บ้านดอนไก่ดี (สมุทรสาคร) บ้านเบญจรงค์ แกลเลอรี (มหาสารคาม) ศ.หลังสวนเบญจรงค์ (ชุมพร) กันตะเบญจรงค์ (สมุทรสาคร) ศรีกุญชรเบญจรงค์ (สมุทรสงคราม) บ้านเบญจรงค์บางช้าง (สมุทรสงคราม) บุญญารัตน์เบญจรงค์ (กรุงเทพฯ) และ ไทยเบญจรงค์ (ชลบุรี) ภายใต้การออกแบบของ 6 ดีไซเนอร์ไทย ได้แก่ เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา, ธนวัฒน์ คล่องวิชา, ประพันธ์พงษ์ สุขแสวง, กมลชนก ภาณุเวศย์, วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ และ กรกต อารมณ์ดี

ผลงานทั้ง 11 คอลเล็กชั่นนำมาจัดแสดงใน 6 แนวคิด ดังนี้

1. Memoires : ผลงาน พนิดา แต้มจันทร์ กลุ่ม ศ.หลังสวนเบญจรงค์ (ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2557) ออกแบบโดย เอ็มโซ เฟียน เบญจเมธา ภายใต้แนวคิด “บทสนทนาระหว่างหน่วยทรงจำใน รากเหง้า” การโคจรมาพบกันระหว่างรากแห่งวิถีศิลปหัตถกรรมและวัฒนธรรมต่างถิ่น อย่างเช่นการนำดินปั้นเบญจเมธาจากปัตตานีมาผสมผสานเข้ากับเบญจรงค์ไทยสายเลือดชุมพร ก่อเกิดสัมพันธภาพ ความงามระหว่างเส้นสายรูปทรง และจารีตที่กลมกลืน

2. To be continued : ผลงาน รัชนี ทองเพ็ญ (แดงเบญจรงค์) และ วิรัช ทะไตรเนตร (บ้านเบญจรงค์แกลเลอรี) ออกแบบโดย ธนวัฒน์ คล่องวิชา ภายใต้แนวคิด “โปรดติดตามตอนต่อไป” ผ่านเรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่น เปรียบเทียบเบญจรงค์ไทยเป็นของที่ระลึกและของแต่งบ้าน ผ่านบทสนทนาของคนในแต่ละยุคสมัย เชื่อมโยงเข้าสู่วิถีชีวิตปัจจุบันที่เบญจรงค์สอดประสานเข้ากับวิถีชีวิตประจำวันอย่างไม่ขัดเขิน

3. Blooming : ผลงาน บุญญารัตน์ ลิ้มวัชราวงศ์ (บุญญารัตน์เบญจรงค์) ออกแบบโดย ประพันธ์พงษ์ สุขแสวง ภายใต้แนวคิดการนำเสนอความหลงใหลที่มีต่อลวดลายไทยที่มี “ดอกไม้” เป็นองค์ประกอบ เช่น ลายจักรี ลายพิกุล และลายบัวสวรรค์ หยิบยกมาตีความใหม่ให้เป็นลวดลายที่ร่วมสมัย เพื่อให้เกิดมุมมองที่แตกต่างในการนำเสนอเบญจรงค์ไทยสู่สากล

4. The new experiment : ผลงาน นุชสรา-สิทธิพงษ์ อ่อนเทศ (กันตะเบญจรงค์) ออกแบบโดย กมลชนก ภาณุเวศย์ ภายใต้แนวคิดที่เกิดจากการศึกษาประวัติศาสตร์และรูปแบบเบญจรงค์ไทย ไม่ว่าจะเป็นแพตเทิร์น จังหวะ และการซ้ำในลวดลาย นำมาปรับใช้กับการออกแบบที่เชื่อมโยงสู่วิถีชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่มากขึ้น

5. Tableware : ผลงาน ณัฐภาวรรณย์ แตงเอี่ยม (ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2558) ธนวรรธน์ ชยุทวาณิชกุล (บ้านเบญจรงค์บางช้าง) เครื่องเคลือบศิลาดล และ จิระพงษ์ เดชรัตน์ (เบญจรงค์เซราพอน) ออกแบบโดย กรกต อารมณ์ดี ภายใต้แนวคิดในการเปลี่ยนบริบทของเบญจรงค์จากที่เคยเป็นของขวัญและของชำร่วย นำมาออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่แปลกใหม่ร่วมสมัย

6. จุดเริ่มของเบญจรงค์ : ผลงาน หัสยา ปรีชารัตน์ (ไทยเบญจรงค์) ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2560 สรัญญา สายศรี ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2557 และ พิษณุ แก้วกุญชร (ศรีกุญชรเบญจรงค์) ภายใต้แนวคิดจุดเริ่มของ “เบญจรงค์” ที่ได้รับการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของเมืองไทย ผ่านการจำลองการเดินทางของเบญจรงค์ในสมัยอยุธยา นำเสนอเป็นผลงานหลากชุดที่เล่นสนุกกับการทำงานดินเผาที่แตกต่างจากวัสดุอื่นๆ กรรมวิธีการทำ นำไปสู่เบญจรงค์ไทยยุคใหม่ที่น่าสนใจ

ภายในงานจัดกิจกรรมเชื่อมโยงสู่วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ได้อย่างลงตัว โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ช่วง เริ่มต้นด้วยกิจกรรม “Cooking with Craft” ตื่นตาเพลินใจไปกับการตกแต่งอาหารด้วยเบญจรงค์ไทยในแบบ Eat meet Art โดย ก้อง โกสินธุ์ วัฒกีเจริญ เจ้าของร้าน “Dijaras” (ดิษจรัส) ที่ร่วมครีเอตเมนูให้เข้ากับเครื่องเบญจรงค์ของไทย ผ่านฝีมือการปรุงอาหารของ วอร์ม กฤตพรต ก๋าแก้ว และก้อย จันทร์รัตน์ ตั้งกุลพานิชย์ เชฟชื่อดังจากร้าน “หย่อนญาณ” ปิดท้ายด้วยบรรยากาศผ่อนคลายไปกับการจิบกาแฟยามบ่ายในแบบศิลปะลาเต้ในเบญจรงค์ โดยสุเมธ พัฒนเกรียงไกร ที่ร้าน The” Tea House

SACICT Signature Collection 2018 พร้อมให้คนไทยสัมผัสนิยามใหม่ของเบญจรงค์ไทย สอบถามได้ที่ 1289 หรือ www.facebook.com/sacict

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน