น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

อยู่ต่างจังหวัดครับ เสียดายมาก ไม่มีโอกาสไปฟังการเสวนาเรื่องข้าหลวงไทยไปย้ายนครวัด เรื่องราวเป็นอย่างไร

อาตู่ (ไม่ใช่ลุง)

ตอบ อาตู่

มติชนออนไลน์รายงานเมื่อ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า นิตยสารศิลปวัฒนธรรม จัดกิจกรรมเสวนา หัวข้อ “ตามข้าหลวงไทย ไปย้ายนครวัด” โดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และภาคีสมาชิกราชบัณฑิต กล่าวว่า รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องสถาปัตยกรรมโบราณ มีหลักฐานปรากฏว่า

ในปีพ.ศ.2402 ทรงโปรดให้พระสุพรรณพิศาลออกไปเลือกหาปราสาทศิลาเมืองเขมรหลังเล็กๆ ที่พอจะรื้อมาปลูกไว้ในกรุงเทพฯ ที่วัดปทุมวนาราม และที่ เขามหาสวรรค์ หรือ เขาวัง จ.เพชรบุรี ไว้เป็นพระเกียรติยศ พระสุพรรณพิศาลพร้อมไพร่พลได้ลงมือรื้อปราสาท

มีเขมรราว 300 คน ออกมาฆ่าข้าหลวงตายจำนวนมาก เมื่อทรงทราบเรื่องรับสั่งให้ชำระผู้ร้ายเหล่านั้น และให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร พร้อมพระยาอานุภาพไตรภพ รื้อปราสาทมาให้ได้ จากนั้นเหล่าเสนาบดีเข้าชื่อกันทำเรื่องถวายให้พระองค์ทรงพระดำริอีกครั้ง ก็ทรงรับสั่งให้งดรื้อ แต่ต้องจัดการผู้ร้ายเหล่านั้นให้ได้

ภายหลังเรื่องนี้เผยแพร่ออกไป ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับพื้นที่แถบนี้มากขึ้น และเข้ามาทำสนธิสัญญาเรื่องเขมรส่วนนอก แถบภาคใต้ของกัมพูชา กลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ครั้นปี 2410 ร.4 โปรดให้พระสามภพพ่ายไปถ่ายแบบปราสาทนครวัด เพื่อจำลองไว้ในกรุงเทพฯ พระสามภพพ่ายได้ถ่ายรูปปราสาทและพระระเบียงกลับมา พระองค์จึงโปรดให้ช่างทำตามแบบจำลองขึ้นไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสร็จสิ้นลงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยฉลองพระนครครบ 100 ปี

ยังมีรายละเอียดในเว็บไซต์ www.silpa-mag.com เสนอบทความเรื่อง “เกร็ดประวัติศาสตร์-การรื้อปราสาทขอม สมัยรัชกาลที่ 4” โดยนักวิชาการประวัติศาสตร์คนสำคัญ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนไว้ว่า พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มีเรื่องราวที่แปลกประหลาดและน่าสนใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับการรื้อปราสาทขอมในกัมพูชา เพื่อนำเข้ามาไว้ในสยามประเทศสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่าให้ไปรื้อปราสาทหิน “นครวัด” ของกัมพูชาที่เมืองเสียมราฐ (เสียมเรียบ) เข้ามาไว้ในกรุงเทพฯ (และเพชรบุรี) และได้ให้ “พระสุพรรณพิศาล ขุนชาติวิชา” ออกไปเที่ยวดูที่เมืองหลวง พระนครธมพระนครวัด กลับมากราบทูลว่ามีแต่ปราสาทใหญ่ๆ ทั้งนั้น จะรื้อเอาเข้ามาเห็นจะไม่ได้

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เลยรับสั่งให้ไปรื้อ “ปราสาทตาพรหม” ซึ่งมีขนาดย่อมกว่า “พระราชพงศาวดารฯ” กล่าวต่อไปว่า มีการส่งคนออกไป 4 ผลัด ผลัดละ 500 คน ให้แบ่งเป็นกองชักลากบ้าง กองส่งบ้าง ตั้งพลีกรรมบวงสรวง ได้ลงมือรื้อปราสาทเมื่อ ณ วันเดือน 6 ขึ้น 9 ค่ำ

เหตุการณ์รื้อปราสาทด้วยจำนวนไพร่พลถึง 2 พันคนนี้ เกิดขึ้นในปีพ.ศ.2410 ในสมัยดังกล่าว เมืองเสียม ราฐ (หรือเสียมเรียบ) และ เมืองพระตะบอง ยังขึ้นโดยตรงกับกรุงเทพฯ มีขุนนางท้องถิ่นตระกูล “อภัยวงศ์” ปกครองอยู่ และ พระสุพรรณพิศาล ขุนนางเมืองนี้นั่นแหละ ที่ถูกรับสั่งให้ไปเป็นหัวหน้าควบคุมการรื้อปราสาทตาพรหม

ที่น่าสนใจก็คือ การรื้อถอนปราสาทหินครั้งนั้นล้มเหลว และพระราชพงศาวดารฯ กล่าวไว้อย่างน่าตกใจว่า มีเขมรประมาณ 300 คนออกมาแต่ป่า เข้ายิงฟันพวกรื้อปราสาท ฆ่าพระสุพรรณพิศาลตายคน 1 พระวังตายคน 1 บุตรพระสุพรรณพิศาลตายคน 1 ไล่แทงฟันพระมหาดไทย พระยกกระบัตรป่วยเจ็บหลายคน แต่ไพร่นั้นไม่ทำอันตรายแล้วหนีเข้าป่าไป

เป็นอันว่า ในสมัยนั้นมีชาวกัมพูชาหรือเขมร ตั้งตัวเป็นเสมือนกองจรยุทธ์ และก็โกรธแค้นการลักลอบเข้าไปรื้อปราสาทของเขา ถึงขนาด “ยิงฟัน” บรรดาขุนนางหัวหน้าที่ควบคุมไป ถึงกับล้มตายเป็นจำนวนมาก และก็เป็นเหตุทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ต้องทรงระงับโครงการรื้อ “ปราสาทหินดังกล่าว เปลี่ยนเป็นให้จำลอง” ปราสาทนครวัดเล็กๆ ดังที่ “พระราชพงศาวดารฯ” ได้กล่าวไว้ว่า “ให้ช่างกระทำจำลองตามที่ถ่ายเข้ามานั้น ขึ้นไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามจนทุกวันนี้” ซึ่งก็คือที่วัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวังนั่นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน