โรคกระดูกสันหลัง ปวดเรื้อรังต้องตรวจรักษา

รายงานพิเศษ

หากปวดหลังไม่นานแล้วดูแลตัวเองจนหายคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ถ้าปวดหลังเรื้อรังเป็นเวลานานและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ด้านกระดูกสันหลัง

นพ.สาริจฉ์ ศรีสุภาพ ผอ.สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงปัญหาของโรคกระดูกสันหลังว่า แนวโน้มการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บกระดูกสันหลังของคนไทยมีเพิ่มขึ้น เพราะไม่ว่าจะอยู่ในวัยทำงาน หรือวัยกลางคนก็สามารถพบปัญหาโรคหมอนรองกระดูก สันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาทได้ จากการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวในท่าที่ไม่ถูกต้อง การนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ การยกของที่หนัก การก้มหรือบิดเอี้ยวตัวผิดท่า รวมทั้งการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุ ทำให้เกิดอาการปวดเฉียบพลันและรุนแรง จนไม่สามารถลุกเดินหรือช่วยเหลือตัวเองได้

อาการปวดที่รุนแรงไม่ได้บ่งชี้ว่าต้องผ่าตัดเสมอไป โดยส่วนใหญ่โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีวิธีการรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์จึงมีหลายทางเลือกในการรักษาโรคทางกระดูกสันหลังแก่ผู้ป่วยมากขึ้น ประกอบด้วย

1.การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด โดยรักษาด้วยวิธีการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยฟื้นคืนความแข็งแรงและความสามารถในการเคลื่อนไหว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนไข้ รวมถึงการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ หากอาการต่างๆ ยังไม่ทุเลาลงจึงค่อยรักษาขั้นถัดไป

2.วิธีระงับความปวด โดย Pain Intervention หรือตัวช่วยวินิจฉัยหาต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาและมีอาการปวด และยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่กำหนดตำแหน่งของความปวดหากต้องเข้ารับการผ่าตัด ช่วยให้แพทย์ผ่าตัดทราบบริเวณที่จะผ่าได้จำเพาะเจาะจงมากขึ้น และไม่ต้องผ่าตัดกว้างเกินความจำเป็น

ถ้าคนไข้มีอาการปวดหลัง อันดับแรกแพทย์ต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าจุดกำเนิดหรือสาเหตุของความปวดมาจากอะไร ใช้ยารับประทานเพื่อแก้ปวดอาจช่วยทุเลาอาการได้ แต่หากสาเหตุของอาการปวดยังคงอยู่ อาการปวดก็จะกลับมาอีก ซึ่งคนไข้แต่ละคนอาจให้คำจำกัดความของอาการปวดที่แตกต่างกัน แพทย์จึงต้องรับฟังและนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อประกอบการวินิจฉัยให้กับผู้ป่วยแต่ละราย


การดูเพียงภาพจากรังสีวินิจฉัยอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ Pain Intervention จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยวินิจฉัย เพื่อหาตำแหน่งเส้นประสาทและระดับของกระดูกสันหลังที่มีปัญหาแล้วเริ่มต้นรักษา อาทิ การฉีดยาลดการอักเสบแบบตรงจุด หรือใช้การจี้เส้นประสาทด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง ถ้าการฉีดยายังไม่ได้ผลจึงจะพิจารณาเรื่องการผ่าตัดเพื่อช่วยบรรเทาอาการให้ทุเลาลง

3.การผ่าตัดกระดูกสันหลังแผลเล็ก เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็ก ที่ช่วยให้คนไข้เสียเลือดน้อย ลดการทำลายโครงสร้างกระดูกสันหลัง เนื้อเยื่อข้างเคียงบาดเจ็บน้อยลง ช่วยให้การฟื้นตัวเร็วขึ้นกว่าการผ่าตัดเปิดแผลกว้าง

นพ.สาริจฉ์กล่าวด้วยว่า สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นสำคัญ เน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยผู้ป่วย ญาติ และแพทย์คือทีมเดียวกัน ทุกคนมีส่วนร่วมในการรับรู้รายละเอียดในการรักษา การตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษา การวางแผนตั้งแต่ก่อนและหลังการผ่าตัดร่วมกัน ที่สำคัญคือ การให้ข้อมูลแก่คนไข้และ ญาติก่อนผ่าตัด การผ่าตัดมีความเสี่ยงอย่างไรและจะแก้ไขความเสี่ยงนั้นได้อย่างไร รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวของคนไข้เพื่อให้การรักษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน