คอลัมน์ ข่าวสดสุขภาพ

รายงานพิเศษ

จากการเสียชีวิตของ นายประกาศิต รัตนตันหยง เจ้าหน้าที่ประจำภาควิชากาย วิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากอุบัติเหตุรถตู้โดยสารชนรถกระบะ ที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เมื่อวันจันทร์ที่ 2 ม.ค.2560 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตหลายราย

โดยนายประกาศิตจบการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากจุฬาฯ กำลังจะเรียนต่อในระดับปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ (Biomedical Sciences) มีผลงานวิจัยที่โดดเด่นมากมาย

ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอณูพันธุศาสตร์ของมะเร็งและโรคของมนุษย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการวิจัยชีววิทยาจีโนมมะเร็ง และโครงการต้นแบบการรักษาความชรา โรคเอสแอลอี และมะเร็ง แนวทางการใช้คัดกรองมะเร็ง ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยของ สกว. เปิดเผยถึงผลงานวิจัยของนายประกาศิต ในฐานะนักวิจัยร่วมโครงการว่า ได้ทิ้งผลงานสำคัญคือ การตรวจวัดดีเอ็นเอเมททิเลชั่น (DNA methylation) ของลำดับเบสซ้ำที่กระจัดกระจาย (Interspersed repetitive sequences, IRSs) เพื่อดูว่าเนื้อเยื่อต่างๆ ของมะเร็งชนิดต่างๆ มีระดับ IRS methylation เป็นอย่างไร

โครงการวิจัยดังกล่าวมีนายประกาศิตเป็นผู้ตรวจวัด และช่วยตรวจวัดระดับ IRS methylation ในน้ำเหลืองของผู้ป่วยมะเร็งตับและมะเร็งโพรงหลังจมูก เนื้อมะเร็งรังไข่ ไทรอยด์ และไข่ปลาอุก ต่อมน้ำเหลืองของมะเร็งศีรษะและคอ เม็ดเลือดขาวของมะเร็งหลายชนิด ซึ่งผลการศึกษาพบการลดลงของระดับ IRS methylation อย่างมีนัยสำคัญ และยังสามารถนำมาใช้ทำนายโรคมะเร็ง รังไข่ ตับ และ ไข่ปลาอุกได้อีกด้วย

จากการที่คณะผู้วิจัยเป็นผู้ริเริ่มการตรวจวัด IRS methylation ด้วยพีซีอาร์ นอกจากมะเร็งแล้วยังพบการลดลงของระดับ Alu methylation ในคนชรา ซึ่ง Alu จัดเป็น IRS ชนิดหนึ่ง และ LINE-1 hypomethylation ในโรคเอสแอลอี

โดยนายประกาศิตได้ช่วย ศ.นพ.กิตติพันธุ์ ฤกษ์เกษม จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตรวจ Alu methylation ในเด็กแรกเกิด พบว่าเด็กที่โตเร็วจะมีระดับ Alu methylation สูงกว่ากลุ่มที่โตช้า

ทั้งนี้การตรวจวัดสภาวะเหนือพันธุ กรรมเพื่อทำนายการเจริญเติบโตของทารกเป็นการศึกษาที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบัน คณะผู้วิจัยได้ค้นพบว่า LINE-1 methylation ที่อยู่ในยีนจะควบคุมการทำงานของยีน

นอกจากนี้นายประกาศิตยังได้ช่วยภาควิชาสูตินรีเวชพิสูจน์บทบาทของ LINE-1 methylation ในกลุ่มอาการหรือโรคที่พบบ่อยในสตรี (polycystic ovary syndrome) และโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) ซึ่งสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งรังไข่

การเกิด IRS hypomethylation ทำให้จีโนมไม่เสถียร

คณะผู้วิจัยจึงศึกษาว่ากลไกการเกิดจีโนมไม่เสถียรนี้มีความสัมพันธ์กับรอยต่อดีเอ็นเอในเซลล์ที่เกิดขึ้นเอง ซึ่งหัวข้อนี้นายประกาศิตเป็นผู้ศึกษา IRS methylation ที่จีโนมและที่ EDSBs

หากการศึกษานี้สำเร็จจะทำให้มีความเข้าใจและสามารถตรวจหา ป้องกันหรือแก้ไขจีโนมที่ไม่เสถียรของเซลล์มะเร็งและเซลล์ชราได้

รวมถึงช่วย ศ.พญ.ดวงฤดี วัฒนศิริชัยกุล มหาวิทยา ลัยมหิดล ศึกษาและพิสูจน์การเกิดการ กระจายของโครโมโซมจากพ่อหรือแม่เท่านั้นจากครอบครัวของผู้ป่วยธาลัสซีเมีย

สำหรับงานสุดท้ายของนายประกาศิตที่เจ้าตัวได้คิด วางแผน ดำเนินการวิจัย และเขียนผลงานด้วยตัวเองทั้งหมด ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีทางชีววิทยาโมเลกุล เพื่อสืบหาเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายในต่อมน้ำเหลืองของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่

โดยตรวจระดับ DNA methylation ของยีน SHP1-p2 SHP1-p2 methylation ซึ่งจะพบเฉพาะในเซลล์เยื่อบุผิว เนื่องจากต่อมน้ำเหลืองมีเยื่อบุผิวน้อย ระดับ SHP1-p2 methylation ในต่อมน้ำเหลืองจึงเป็นการบ่งบอกเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองได้

ดังนั้น การตรวจวัดระดับ SHP1-p2 methylation ด้วยเทคนิคที่นายประกาศิตปรับปรุงขึ้นจึงสามารถตรวจหาเซลล์มะเร็งที่มีปริมาณน้อยจนไม่สามารถวินิจฉัยด้วยกล้อง จุลทรรศน์ได้

งานวิจัยของนายประกาศิตที่เป็นกำลังหลักในงานที่กำลังดำเนินการอยู่ก่อนเสียชีวิต คือ การสืบหาการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุลของเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

ซึ่งผลการศึกษามีความเป็นไปได้สูงมากว่าในอนาคตจะสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนี้ด้วยการตรวจจากเลือด งานวิจัยนี้ไม่มีการทำในต่างประเทศ เพราะเป็นงานวิจัยต่อยอดจากองค์ความรู้ที่ค้นคว้าและค้นพบในห้องปฏิบัติการของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

“ทั้งนี้องค์ความรู้ทั้งหมดจากงานวิจัยทั้งหมดของประกาศิต สามารถตีพิมพ์ผลงานในระดับนานาชาติถึง 14 เรื่อง และได้รับการอ้างอิงนับถึงวันที่เสียชีวิตสูงถึง 474 ครั้ง นับว่าสูงมากสำหรับวงการวิชาการของไทย เพราะโดยทั่วไปหากได้รับการอ้างอิงเกิน 100 ครั้ง ก็มีมาตรฐานเทียบเท่ากับศาสตราจารย์ ระดับ 11” ศ.ดร.น.พ.อภิวัฒน์ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน