คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

น้าชาติ หลานถาม เรื่องทะเลหมอก ขอความรู้จากน้าชาติไปบอกหลานนะคะ

ดนยา

ตอบ ดนยา

คำตอบสรุปความจากข้อมูลในเว็บไซต์ http://www.scimath.org คลังความรู้สู่ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ของสถาบันส่งเสริมการสินวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ว่า ทะเลหมอกและหมอกมีพื้นฐานของการเกิดขึ้นเหมือนกัน คือเกิดจากอุณหภูมิของอากาศที่ลดลงมากจนต่ำกว่าจุดน้ำค้าง ทำให้ไอน้ำ เกิดการกลั่นตัวเป็นละอองน้ำขนาดเล็ก ในบรรยากาศใกล้ผิวโลก

หมอกก็คือเมฆที่เกิดในระดับใกล้พื้นโลก ส่วนหมอกที่เกิดสูงขึ้นไป เรียกว่า หมอกน้ำค้าง หรือ ทะเลหมอก เป็นจุดที่อากาศสามารถพยุงให้ลอยตัวอยู่ได้ แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นละอองน้ำเหล่านี้จะกลับไปเป็นไอน้ำใหม่ทำให้หมอกหายไป ปกติแล้วหมอกมักจะเกิดขึ้นในขณะที่ลมสงบในช่วงฤดูหนาวและตามหุบเขา

หมอกน้ำค้าง (Mist) เป็นน้ำในอากาศ หรือ ไฮโดรมีทิเออร์ (hydrometeor) ซึ่งประกอบด้วยละอองน้ำเล็กมากจนไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือละอองน้ำดูดความชื้น ลอยอยู่ในอากาศ หมอกน้ำค้างมีลักษณะเช่นเดียวกับหมอกแต่บางกว่า เมื่อมีหมอกน้ำค้างเกิดขึ้นเหนือที่ใดมักจะแลดูคล้ายม่านบางสีเทาคลุมอยู่เหนือภูมิประเทศแห่งนั้น ทำให้ทัศนวิสัยที่ผิวพื้นโลกลดลงน้อยกว่าหมอก แต่ยังเห็นได้ไกลเกินกว่า 1 กิโล เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ในหมอกน้ำค้างมักจะน้อยกว่า 95%

ทะเลหมอกต่างกับหมอกทั่วไปตรงที่การเกิดทะเลหมอกต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ 2 ส่วน นั่นก็คือ การเกิดหมอก และทัศนวิสัยในระดับสายตาค่อนข้างชัดเจน หากไม่มีทั้งสองข้อก็ไม่สามารถชมทะเลหมอกได้อย่างสวยงาม จะชมได้ก็เพียงหมอกที่คละคลุ้งอยู่รอบด้านเท่านั้น

ทะเลหมอกเกิดจากการเย็นตัวของไอน้ำในอากาศอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิที่มวลอากาศชื้นควบแน่นเป็นละอองน้ำหรือหยดน้ำ เรียกว่าจุดน้ำค้าง (Dew Point) คือการที่อากาศรับไอน้ำไว้ไม่ได้อีกแล้ว เกิดภาวะอิ่มตัว ความชื้นส่วนเกินจะควบแน่นกลายเป็นละอองน้ำและหยดน้ำ ทำให้เห็นเป็นสายหมอกและอาจเปียกโชกได้ถ้ายืนอยู่บริเวณนั้น

ปัจจัยที่สองของการเกิดทะเลหมอกคือทัศนวิสัยของผู้มอง ต้องค่อนข้างชัดเจน หมายความว่าในระดับสายตาของผู้มองต้องมีหมอกเบาบางกว่าระดับล่าง (เช่น หุบเขา) หรือไม่มีหมอกเลย จะทำให้มองเห็นทะเลหมอกขาวโพลนกว้างไกลออกไป

ปัจจัยที่ทำให้ระดับสายตาไม่มีหมอกก็คือปัจจัยที่ทำให้หมอกสลายตัว ได้แก่ แสงแดด สายลมแรง และเมฆคลุมฟ้า ความร้อนจากแสงแดดทำให้หมอกระดับตัวผู้มองสลายไปก่อนจึงมองเห็นทะเลหมอกเบื้องล่าง หรือลมที่พัดผ่านยอดเขาก็ทำให้หมอกระดับตัวผู้มองสลายไปก่อนเช่นกัน และการมีเมฆคลุมฟ้าหมายถึงมีการลอยตัวของไอน้ำขึ้นไปยังชั้นเมฆ หมอกชั้นบนก็จะสลายตัวก่อนหมอกชั้นล่างนั่นเอง

ทั้งนี้ หมอกทุกชนิดเกิดเมื่ออุณหภูมิอากาศมีค่าเท่ากับอุณหภูมิจุดน้ำค้าง ทำให้อากาศเกิดการอิ่มตัว แล้วกลั่นตัวเป็นละอองน้ำเล็กๆ และเมื่อหมอกจะสลายตัวมีหลักสังเกตดังนี้

1.เมื่อมีความร้อนเกิดขึ้น เช่น ดวงอาทิตย์ส่องในตอนเช้า หมอกเมื่อได้รับความร้อนก็จะยกตัวกลายเป็นเมฆหรือระเหยกลายเป็นไอหมด

2.เมื่อลมมีกำลังแรงขึ้น หมอกจะสลายตัวได้เร็วขึ้น

3.เมื่อมีเมฆปกคลุมท้องฟ้ามากขึ้นจะทำให้หมอกสลายเร็ว ยิ่งขึ้น

หมอกทะเลกับทะเลหมอกแตกต่างกันอย่างไร เกิดขึ้นได้ที่ใดบ้างในประเทศไทย ตอบว่า หมอกทะเล เป็นหมอกชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของมวลอากาศในแนวนอน เกิดขึ้นเหนือผิวน้ำทะเล โดยอากาศซึ่งอยู่เหนือผิวน้ำที่อุ่นเคลื่อนที่ไปยังผิวน้ำที่เย็นกว่า ทำให้อากาศข้างล่างเย็นลงต่ำกว่าจุดน้ำค้าง

ส่วนทะเลหมอกมักจะเกิดขึ้นในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น ช่วง หลังฝนตกและในช่วงฤดูหนาว ทะเลหมอกเป็นหมอกที่ปกคลุมพื้นที่กว้างๆ ในหุบเขาในประเทศไทยมีทะเลหมอกเกิดขึ้นได้หลายแห่ง เช่น ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงราย เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน