คุยปีใหม่กับดร.คิมฮักเชิล คอลัมนิสต์แนะ‘ออกจากกรอบ’

คุยปีใหม่กับดร.คิมฮักเชิล – คอลัมน์ออกจากกรอบโดยนักวิชาการชาวเกาหลีใต้ ดร.คิม ฮัก เชิล มาประจำการยังหนังสือพิมพ์ข่าวสดสองเดือนแล้ว ให้ข้อคิดดีๆ กับเยาวชนในหลายแง่หลายมุม

ถือโอกาสเริ่มปี 2562 จึงให้คุณคิมจรดปากกาแนะนำตนเองและแง่คิดทางสังคมเพื่อให้ผู้อ่านข่าวสดรู้จักคอลัมนิสต์ท่านนี้มากขึ้น ข้อความมีดังนี้

สวัสดีครับ ผมชื่อว่า คิม ฮัก เชิล เป็นคนเกาหลีใต้ อยู่ที่ประเทศไทยมาประมาณ 23 ปี ปัจจุบันนี้ผมทำงานอยู่กับองค์กรที่ชื่อว่า มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ หรือ IYF มีหน้าที่รับผิดชอบการบรรยายเรื่องของจิตใจให้กับคนทั่วไป

คุยปีใหม่กับดร.คิมฮักเชิล คุยปีใหม่กับดร.คิมฮักเชิล

ตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่ได้พบปะคนไทยมากมาย และจะเห็นลักษณะของคนไทย คือ รักสบาย รักที่จะสนุกสนาน เพราะมีเงื่อนไขทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ขณะที่คนเกาหลีโดยทั่วไปจะมีนิสัยชอบทำอะไรเร็วๆ และสามารถเอาชนะความยากลำบากรวดเร็วกว่า ผมมาที่นี่แล้วก็คิดบ่อยๆ ว่า อะไรคือความแตกต่างระหว่างคนเกาหลี และคนไทย ก่อนพบว่าประเทศเกาหลีมีฤดูหนาว ช่วงฤดูใบไม้ร่วงจะต้องเร่งเก็บเกี่ยวพืชผลการเกษตร มิฉะนั้นต้องอด และหนาวตาย แต่ประเทศไทยมีเพียงฤดูร้อน ถ้าไม่เก็บเกี่ยววันนี้ พรุ่งนี้ หรืออีก 1 อาทิตย์ก็ทำได้ เพราะมีความคิดว่ายังไงก็มีกินอยู่แล้ว

ปกติแล้วมนุษย์เราจะมีความต้องการสูง ไม่ว่าใครก็ต้องการรถดีๆ บ้านดีๆ หรือตำแหน่งดีๆ เพื่อเติมเต็มความต้องการเหล่านั้น บางครั้งก็ต้องตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน หรือต้องสู้กับคนอื่นเพื่อให้ได้มา ซึ่งปัญหาในสังคมปัจจุบันนี้คือ มุ่งเข้าไปหาความต้องการนั้นอย่างเดียว โดยไม่รู้เลยว่าจะต้องหยุด หรือยับยั้งในส่วนไหน ถ้าเปรียบจิตใจเป็นรถยนต์ ก็อธิบายได้ว่า คนอาจจะชอบรถที่หรูหรา หรือเครื่องยนต์แรง แต่ต่อให้เป็นรถที่ดีขนาดไหน หากเป็นรถที่เบรกเสียก็จะไม่สามารถขับไปสู่เป้าหมายได้อย่างปลอดภัย

ปัญหาของสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน หรือผู้ใหญ่ ก็มีปัญหาเดียวกัน คือมีความต้องการแต่ไม่รู้ว่าจะหยุดสิ่งนี้อย่างไร ผมได้พบกับเยาวชนที่บ่อยครั้งก็จะออกนอกเส้นทาง ไปติดเกมหรือสิ่งอื่นๆ เมื่อหลายปีที่แล้วได้พบกับนักศึกษาคนหนึ่ง เขาไม่ไปเรียน เพราะมัวแต่ติดเกม เคยเล่นติดต่อกัน 50 ชั่วโมง ตอนนั้นแม่เขาก็โมโหมาก จึงถอดปลั๊กคอมพิวเตอร์ออก เมื่อลูกชายเห็นแบบนั้น ก็โมโหลุกขึ้นมาต่อยแม่ตัวเอง

บ่อยครั้งผมจะเจอนักศึกษาหรือเยาวชนลักษณะแบบนี้ ที่หลายคนก็เกเร จนเรียนไม่จบ หรือติดยาเสพติด ฉะนั้นปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้น คือการไม่มีพลังในการยับยั้งจิตใจ

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมพบนักศึกษาคนหนึ่ง ที่เป็นโรคซึมเศร้า และอยากจะฆ่าตัวตาย เมื่อตอนที่เขาอยู่ชั้นมัธยมต้น เขาถูกเพื่อนข่มขืน และตั้งแต่ตอนนั้นก็ไม่อยากจะเจอผู้ชายคนนั้นอีก และก็รู้สึกไม่ชอบพ่อตัวเองด้วย หนักถึงขั้นไม่อยากจะพูดคุยกับใครเลย มีความกลัว และความอายเกิดขึ้นมากมายในจิตใจ ขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ก็มีเรื่องที่ต้องทำรายงานส่งอาจารย์ และเขาเป็นคนสุดท้ายที่ต้องส่ง หลังจากที่ตรวจสอบรายงานของตัวเองเสร็จ ก็ถูกอาจารย์คนนั้นลวนลาม พยายามจะข่มขืน ตั้งแต่วันนั้นก็รู้สึกว่าไปเรียนไม่ไหว และใช้เวลาอยู่คนเดียวเสมอ เพื่อตัดขาดจากสังคมภายนอก จนกลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด และอยากจะฆ่าตัวตาย

วันหนึ่งเขาได้พบกับมูลนิธิของเรา ได้ฟังบรรยายเรื่องโลกของจิตใจ ก่อนจะเข้าใจว่า วิธีการแก้ปัญหาโรคซึมเศร้า คือ การเปิดใจ นักศึกษาคนนี้เขาใช้ชีวิตแบบปิดใจกับทุกคน และไม่ได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ใครฟัง เพราะคิดว่าจะแก้ปัญหาได้ แต่สิ่งนั้นกลับพาเขาไปสู่ความสิ้นหวังมากขึ้น หลังจากฟังบรรยาย ก็รู้ว่าตัวเองกำลังไปในทางที่ผิดอยู่ จึงอยากจะเปิดใจกับคนรอบข้าง เมื่อพูดเปิดใจกับคนเหล่านี้ ไม่นานเขาก็หลุดพ้นจากอาการซึมเศร้าได้

บางคนมีรูปร่างภายนอกและลักษณะการใช้ชีวิตที่ดีหรือหรูหรา แต่ภายในจิตใจกลับ เต็มไปด้วยความทุกข์ ความมืด หรือความโศกเศร้า แต่ในทางตรงกันข้ามบางคนอาจจะด้อยการศึกษา หรือยากจน แต่ก็มีความสุขในชีวิตได้ ความแตกต่างคือการเรียนรู้เรื่องโลกของจิตใจถึงแม้จะมีความยากลำบาก หรือปัญหาเกิดขึ้น ก็จะมีพลังเอาชนะสิ่งเหล่านี้ได้

เมื่อปีที่แล้วผมมีโอกาสเจอกับนักเรียนคนหนึ่ง ซึ่งเรียนไม่จบมัธยมปลาย และใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เพราะเขาชอบเล่นเกม ไม่ยอมไปเรียน และเสพยา ที่ผ่านมาเขารู้สึกไม่พอใจในพ่อแม่เยอะมาก พ่อแม่เขาก็ทรมานกับสิ่งที่ลูกเป็น จนนำลูกชายเขามาฝากให้องค์กรของเราช่วยดูแล ต่อมานักเรียนคนนี้ก็ได้รับการฝึกฝนเป็นเวลาประมาณ 1 ปี และได้เป็นอาสาสมัครที่ประเทศกานา ทวีปแอฟริกาอีก 1 ปี ที่นั้นเขาได้พบกับคนที่ยากจน เจอเด็กมากมายที่ไม่ได้เรียนหนังสือ และต้องไปรับจ้างช่วยชาวประมง ได้เงินเดือนละ 10 ดอลลาร์เท่านั้น แต่พวกเขาก็ไม่ได้บ่นต่อว่าพ่อแม่ และใช้ชีวิตมีความสุขได้ จุดนั้นทำให้มองเปรียบเทียบเด็กเหล่านี้กับตัวเอง รู้สึกว่าเขามีพร้อมทุกอย่าง แต่กลับมีจิตใจบ่นว่า จึงเริ่มเรียนรู้ว่าชีวิตที่ผ่านมาใช้ชีวิตโง่มาก ก่อนจะรู้สึกขอโทษกับพ่อแม่ เมื่อเขากลับมาที่ไทยชีวิตเขาก็เปลี่ยนไป แล้วรู้สึกว่าการอยู่ในประเทศไทยเป็นสิ่งที่มีความสุขที่สุด

กล่าวโดยสรุป ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันที่ผมเห็นคือการชอบอยู่ในกรอบความคิดตัวเองและคนก็เห็นแก่ตัวกัน มากขึ้น ผมสมมติว่าถ้ามีบ่อน้ำแห่งหนึ่งที่ไม่มีการไหลเวียนกับแหล่งน้ำอื่น บ่อน้ำนั้นก็จะเป็นบ่อน้ำที่ตาย แต่ถ้ามีน้ำไหลเข้า และไหลออก หมุนเวียนแบบนี้เรื่อยๆ ถึงจะเป็นบ่อน้ำที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ หากสังคมเราเป็นสังคมที่มีโอกาสรับและให้ซึ่งกันและกัน ถ้าเป็นอย่างนั้นลูกๆ ก็จะมีคำขอบคุณกับพ่อแม่ได้ พ่อแม่เองก็มีใจที่จะยอมเสียสละเพื่อลูกได้อีกด้วย

เมื่อ 23 ปีก่อนที่ผมมาที่ประเทศ ไทย จำนวนประชากรของเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย ใกล้เคียงกันมาก แต่ตอนนี้ฟิลิปปินส์มีประมาณ 110 ล้านคน และเวียดนามมีประมาณ 90 ล้านคน ทิ้งห่างไทยไปโข

ตัวเลขของไทยยังนิ่ง อยู่ที่ 60 ล้านกว่าคน มันสะท้อนว่าสังคมของอีกสองประเทศพัฒนามากขึ้น เพราะอัตราการแต่งงานของคนไทยต่ำ ส่งผลให้การเกิดขึ้นของประชากรน้อยลงตามไปด้วย พลังของประเทศนั้นจะลดลงไป ความสำคัญอยู่ที่ผู้ใหญ่อย่างเราจะต้องเสียสละ และเยาวชนเองก็ควรจะขอบคุณต่อผู้ใหญ่ด้วย หากเราสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแบบนี้ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เช่นนั้นสังคมจะมีพลังเติบโต และพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

ผ่านการเขียนคอลัมน์ออกจากกรอบนี้ ผมอยากให้คนไทยมีโอกาสได้ขอบคุณที่เกิดในประเทศไทย ความจริงประเทศนี้เป็นประเทศที่มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และมีเงื่อนไขที่ดีในการใช้ชีวิต

ผมมีความเชื่อว่าถ้ามีผู้คนมากมายที่ได้เรียนรู้เรื่องโลกของจิตใจจะเป็นคนที่มีความหวัง และใช้ชีวิตโดยที่มีความสุข และความอุดมสมบูรณ์ได้ ผมมีความหวังว่าอยากจะใช้ชีวิต และทำงานร่วมกับประเทศไทย เพื่อสร้างพลังให้สังคมไทยต่อไปในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน