ผลงานเยาวชนAI เพื่อสังคม-ชุมชน : สดจากเยาวชน

ผลงานเยาวชนAI เพื่อสังคม-ชุมชน – ส่องผลงานเยาวชน สร้างสรรค์AI เพื่อสังคม ชุมชน ในวันสุดท้ายของกิจกรรมค่าย Creative AI Camp (CAIC) จัดโดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ 8 พันธมิตร เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนทั้ง 40 คน นำองค์ความรู้ที่ได้จากการเข้าค่ายตลอด 4 วัน มาพัฒนาเป็นไอเดียในการใช้ AI สร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น

ผลงานเยาวชน AI

สำหรับ 8 ผลงานไอเดียสร้างสรรค์ จากเยาวชน 8 กลุ่ม มีแนวคิดที่น่าสนใจเน้นไปที่การช่วยเหลือสังคม โดย 4 ผลงาน จาก 4 กลุ่มที่ได้รับรางวัล Creative AI Awards ในครั้งนี้หากนำไปพัฒนาต่อยอดจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางสังคมที่น่าติดตาม

เริ่มที่ กลุ่ม AI มีเรา เยาวชนกลุ่มนี้ออกไอเดียดึง AI เข้ามามีส่วนช่วยในการวิจัยพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ ทั้งหาสถานที่ตั้งที่เหมาะสม หาแนวทางพัฒนาพลังงานทดแทนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในราคาที่ถูกลง

ผลงานเยาวชน AI

ทีม AI มีเรา

กลุ่มต่อมา Sigma X equal MA กลุ่มนี้ออกแบบแอพฯ “KAIKONG” หรือ “ขายของ” มีฟังก์ชันแนะนำสินค้าที่ร้านค้าใกล้ๆ ด้วยวัตถุประสงค์ให้ร้านโชห่วยและร้านสะดวกซื้อสามารถอยู่ร่วมกันได้

กลุ่มไก่ ก็มีไอเดียสุดเจ๋ง โชว์แนวคิดพัฒนาถังขยะอัจฉริยะ หรือ Smart Bin ใช้ AI เข้ามาช่วยแนะนำเรื่องการทิ้งขยะ แก้ปัญหาคนทิ้งขยะไม่ถูกถัง

ผลงานเยาวชน AI

น้องๆ ทีมไก่

สุดท้าย กลุ่ม Hextreme กับโปรเจ็กต์ Zero hunger ออกแบบ AI ให้เข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนอาหาร โดยพยายามคำนวณปริมาณอาหารเหลือก่อนหมดอายุ และนำอาหารเหล่านั้นไปแจกจ่ายให้กับโรงเรียนที่มีความต้องการ

ผลงานเยาวชน AI

ทีม Hextreme

ค่ายนี้นอกจากจะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ แล้ว ยังช่วยสร้างสรรค์ทักษะและโลกใบใหม่แก่เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการไปพร้อมกัน

น.ส.ปนรรฐพร ตังกวย นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน กล่าวว่า หลายคนอาจคิดว่า AI จะมาแทนที่คน แต่ในมุมมองของเธอ AI จะเข้ามาช่วยเติมเต็มความสามารถและอำนวยความสะดวกให้คนในสังคม ถ้าในอนาคตสามารถนำ AI ไป ต่อยอดและพัฒนาการใช้ชีวิต รวมถึงนำโปรเจ็กต์ที่มีประโยชน์ของเพื่อนๆ ทั้ง 8 กลุ่มไปขยายผลให้ใช้งานได้จริง เชื่อว่าประเทศไทยจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

ผลงานเยาวชนAI

ปนรรฐพร

ปนรรฐพรตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าต้องการเป็นแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้คน ความรู้ด้าน AI ที่ได้รับจากค่ายนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบวิชาชีพแพทย์ของเธอ เพราะปัจจุบัน AI เข้ามามีบทบาททางการแพทย์แล้ว เช่นเข้ามาช่วยเหลือด้านการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดแม่นยำมากขึ้น

ด้าน น้องอาร์ม ณัชพล อมรรัชตพงษ์ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เล่าว่าตัวเขาเองมีโครงการระยะยาว 10-20 ปีร่วมกับเพื่อน ในการนำ AI เข้ามาช่วยเหลือทางการแพทย์ เนื่องจากมองว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรการแพทย์ หาก AI เข้ามาเป็นผู้ช่วยคุณหมอได้ น่าจะบรรเทาปัญหาดังกล่าวลงได้ สิ่งหนึ่งที่ชอบมากในค่ายนี้คือได้เรียนรู้ทักษะกีฬาหมากล้อม หรือ โกะ ช่วยฝึกทักษะการคิด การวางแผน สอดคล้องกับการเรียนรู้เชิงลึกของ AI

ผลงานเยาวชนAI

น้องอาร์ม-น้องกู๊ด

ขณะที่ น้องกู๊ด สิรภัทร เจษฎาพรชัย นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ให้มุมมองว่าปัญหาความยากจนส่งผลให้คนจำนวนหนึ่งขาดโอกาสการเข้าถึงยาและการรักษาที่มีคุณภาพ ในอนาคตจึงอยากจะพัฒนา AI ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ AI เข้าไปช่วยทุกคนให้มีโอกาสเข้าถึงยาและการรักษาได้มากขึ้นในราคาที่ถูกลง

ผลงานเยาวชนAI

น้องจั๊ด

ส่วน น้องจั๊ด กรณิศ ตั้งศรีไพโรจน์ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน บอกว่าการเข้าร่วมค่ายครั้งนี้เปรียบเสมือนการเปิดโลกใบใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม เข้าถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ AI เข้าใจกระบวนการและเรื่องราวเชิงลึกเกี่ยวกับ AI มากขึ้น ได้มิตรภาพที่ดี ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ แม้ต่างคนจะต่างที่มาแต่ค่ายนี้ช่วยหลอมให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้ ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่นและยอมรับซึ่งกันและกัน

ผู้ได้รับรางวัล Creative AI Awards ทั้ง 4 ทีม จะได้รับโอกาสไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป) เรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน