ภูเขาไฟ-กำเนิด : รู้ไปโม้ด โดย น้าชาติ ประชาชื่น

ภูเขาไฟ-กำเนิด – ภูเขาไฟเกิดขึ้นได้ยังไงคะ มีกี่ชนิด

สายไหม

ตอบ สายไหม

คำตอบนำมาจากเว็บไซต์ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) www.lesa.biz ว่า ภูเขาเกิดจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะของเปลือกโลก ซึ่งแผ่นธรณีทวีปดันกันทำให้ชั้นหินคดโค้งเป็นรูปประทุนคว่ำและประทุนหงายสลับกัน ภูเขาที่มียอดแบนราบอาจเกิดจากการยกตัวของเปลือกโลกตามบริเวณรอยเลื่อน (Fault)

ภูเขาไฟ-กำเนิด

แต่ภูเขาไฟ (Volcano) มีกำเนิดแตกต่างจากภูเขาทั่วไป ภูเขาไฟเกิดจากการยกตัวของแม็กมาใต้เปลือกโลก เมื่อแผ่นธรณีมหาสมุทรเคลื่อนที่เข้าหากัน หรือปะทะกับแผ่นธรณีทวีป แผ่นธรณีมหาสมุทรซึ่งมีความหนาแน่นกว่าจะจมลงสู่ชั้นฐานธรณีภาค และหลอมละลายกลายเป็นหินหนืด หรือแม็กมา (Magma) อย่างไรก็ตาม แม็กมาไม่ได้กำเนิดขึ้นทั่วไปทุกหนแห่งของโลก หากมีอยู่แต่บริเวณที่รอยต่อของแผ่นธรณีบางชนิด และบริเวณจุดร้อนของโลก

ภูเขาไฟ-กำเนิด

รอยต่อของแผ่นธรณีเคลื่อนที่ออกจากกัน : แม็กมาจากชั้นฐานธรณีภาคลอยตัวขึ้นสู่พื้นผิวโลก แรงดันที่ลดลงช่วยทำให้เปลือกโลกที่อยู่ด้านบนหลอมละลายเกิดเป็นสันเขาใต้สมุทร และดันตัวออกทางด้านข้าง กลายเป็นแผ่นธรณีมหาสมุทรซึ่งกำเนิดมาจากแม็กมาหินบะซอลต์ ตัวอย่างเช่น สันเขาใต้มหาสมุทรแอตแลนติก อย่างไรก็ตามในบางแห่งแม็กมาก็ยกตัวขึ้นสู่แผ่นธรณีทวีป เช่น ทะเลสาบมาลาวีในทวีปแอฟริกา, รอยต่อของแผ่นธรณีเคลื่อนที่เข้าหากัน : การชนกันของแผ่นธรณีสองแผ่นในแนวมุดตัว (Subduction zone) ทำให้แผ่นที่มีความหนาแน่นมากกว่าจมตัวลงสู่ชั้นฐานธรณีภาค แรงเสียดทานซึ่งเกิดจากการที่แผ่นธรณีทั้งสองเสียดสีกันจะทำให้เกิดความร้อน น้ำในแผ่นหินซึ่งระเหยกลายเป็นไอ ประกอบกับแรงกดดันที่ลดลง ช่วยให้หินหลอมละลายกลายเป็นแม็กมาได้เร็วขึ้น และแทรกตัวออกจากผิวโลกทางปล่องภูเขาไฟ ตัวอย่างเช่น ภูเขาไฟฟูจิในประเทศญี่ปุ่น

 

จุดร้อน (Hotspot) : แก่นโลกชั้นนอกมีความร้อนไม่เท่ากัน ในบางจุดของแก่นโลกมีความร้อนสูง จึงทำให้เนื้อโลกชั้นล่างเหนือบริเวณนั้นหลอมละลาย และแทรกตัวลอยขึ้นมาตามช่อง แม็กมา จุดร้อนจะอยู่ ณ ตำแหน่งเดิมของแก่นโลก แต่เปลือกโลกจะเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ผ่านจุดร้อน แม็กมาที่โผล่ขึ้นสู่พื้นผิวโลกจึงทำให้เกิดหมู่เกาะเรียงตัวกันเป็นแนว ดังเช่นหมู่เกาะฮาวาย โดยทิศทางการเรียงตัวของหมู่เกาะจะขึ้นอยู่กับทิศทางการเคลื่อนที่ของแผ่นธรณี

แม็กมาแกรนิต และ แม็กมาบะซอลต์ : ปกติแม็กมาที่เกิดจากชั้นหินในเปลือกโลกมหาสมุทรหลอมละลายในชั้นฐานธรณีภาคจะเป็นแม็กมาบะซอตล์ แต่เมื่อแม็กมาบะซอลต์ลอยตัวสูงขึ้นดันเปลือกโลกทวีปซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นหินแกรนิตก็จะหลอมละลายกลายเป็นแม็กมาแกรนิต แต่เนื่องจากหินแกรนิตซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นซิลิกาซึ่งมีจุดหลอมเหลวต่ำกว่าหินบะซอลต์ เราจึงมักพบว่าแม็กมาแกรนิตมักเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็งภายในเปลือกโลก กลายเป็นหินอัคนีแทรกซอน ส่วนแม็กมา บะซอลต์มักเย็นตัวบนพื้นผิวโลกเรียกว่า ลาวา (Lava) และกลายเป็นหินอัคนีพุในที่สุด

ภูเขาไฟระเบิดใกล้ชุมชนทำให้เกิดมหันตภัยครั้งยิ่งใหญ่ แผ่นดินไหวทำให้อาคารพังพินาศ ถนนขาด และไฟไหม้เนื่องจากท่อก๊าซถูกทำลาย ธารลาวา กรวดและเถ้าภูเขาไฟที่ไหลลงมา สามารถทับถมหมู่บ้านและเมืองที่อยู่รอบข้าง ถ้าภูเขาไฟอยู่ชายทะเล แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวจะทำให้เกิดคลื่น สึนามิขนาดยักษ์กระจายตัวออกไปได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตร ทั้งฝุ่นและเถ้าภูเขาไฟยังปลิวไปตามกระแสลมเป็นอุปสรรคต่อการจราจรทางอากาศ

ภูเขาไฟ-กำเนิด

แต่ภูเขาไฟระเบิดก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรธรณีแปรสัณฐาน ซึ่งหมุนเวียนธาตุอาหารให้แก่ผิวโลก ดินที่เกิดจากการสลายตัวของหินภูเขาไฟมีความอุดมสมบูรณ์สูง ปลูกพืชพรรณได้งอกงาม แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งปล่อยออกมาจากปล่องภูเขาไฟ ทำให้พืชสามารถสังเคราะห์ธาตุอาหารด้วยแสง แม็กมาใต้เปลือกนำแร่ธาตุและอัญมณีที่หายาก เช่น เพชร พลอย ขึ้นมา เป็นต้น และด้วยเหตุที่ภูเขาไฟนำมาซึ่งความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ชุมชนจึงมักตั้งอยู่ที่เชิงภูเขาไฟ

ตอนต่อไป พบกับ 4 ประเภทของภูเขาไฟ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน