ปาบึก : รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น

ปาบึก : รู้ไปโม้ด โดย น้าชาติ ประชาชื่น – น้าชาติ ขอรายละเอียดเรื่องปาบึก พายุค่ะ

จิดาภา

ปาบึก

ตอบ จิดาภา

พายุโซนร้อนปาบึก (Pabuk) เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวทางมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้ โดยจากพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 6.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 109.8 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนตัวทางทิศใต้ค่อนทางตะวันตกเล็กน้อยอย่างช้าๆ เคลื่อนผ่านปลายแหลมญวนและเคลื่อนลงอ่าวไทยในช่วงวันที่ 2-3 มกราคม 2562 โดยมีผลกระทบต่อภาคใต้ในช่วงวันที่ 3-5 มกราคม 2562

สำหรับชื่อ พายุปาบึก Pabuk ตั้งมาจากชื่อ ปลาบึก ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง เป็นชื่อในรายชื่อพายุหมุนเขตร้อนในชุดที่ 2 ของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ ส่งโดยประเทศลาว

เรียงลำดับเวลาจากวันที่ 28 ธันวาคม 2561 หย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ตอนล่าง วันที่ 30 ธันวาคม 2561 หย่อมความกดอากาศต่ำดังกล่าวดูดซึมผสานเข้ากับเศษที่หลงเหลือของพายุดีเปรสชันเขตร้อน 35W วันที่ 31 ธันวาคม 2561 เนื่องมาจากลมเฉือนแนวตั้งกำลังแรง หย่อมความกดอากาศต่ำจึงไม่เป็นระบบ กระทั่งวันที่ 31 ธันวาคม กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นเริ่มติดตามพายุดีเปรสชันเขตร้อนที่ก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ตอนล่าง ในขณะที่ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้แจ้งเตือนการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนกับระบบ ต่อมาศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ปรับระบบดังกล่าวเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนเช่นกัน และให้รหัสเรียกว่า 36W

ปาบึก

วันที่ 1 มกราคม 2562 กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นปรับความรุนแรงของพายุดีเปรสชันเขตร้อนเป็นพายุโซนร้อน และใช้ชื่อว่า ปาบึก การปรับดังกล่าวทำให้ปาบึกกลายเป็นพายุลูกแรกของฤดูกาล 2562 และกลายเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวเป็นพายุโซนร้อนได้เร็วที่สุดในบันทึกของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ ในขณะที่พายุอยู่ห่างจากโฮจิมินห์ ซิตี ประเทศเวียดนาม ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 650 ก.ม. โดยมีศูนย์กลางการหมุนเวียนระดับต่ำเปิดออกเป็นบางส่วน ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเกี่ยวกับพายุโซนร้อนปาบึก โดยคาดว่าพายุจะเคลื่อนตัวเข้าอ่าวไทยในวันที่ 2-3 มกราคม และส่งผลกระทบกับภาคใต้ในวันที่ 3-5 มกราคม

วันที่ 3 มกราคม ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี มีอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่อุ่น การไหลออกในแนวขั้วอย่างดีเยี่ยม แต่มีลมเฉือน แนวตั้งกำลังแรง ทำให้พายุปาบึกต้องดิ้นรนที่จะทวีกำลังแรงขึ้น จนกระทั่งมันเคลื่อนตัวเร่งไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ และเข้าสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีลมเฉือนในแนวตั้งน้อยกว่า และกลายเป็นพายุโซนร้อนลูกแรกที่พัดเข้าสู่อ่าว นับตั้งแต่พายุไต้ฝุ่น หมุ่ยฟ้า ในปี 2547

ปาบึก

วันที่ 4 มกราคม กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า พายุปาบึกขึ้นฝั่งที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในเวลา 12.45 น. ตามเวลาในประเทศไทย (05.45 UTC) ทำให้ปาบึกเป็นพายุโซนร้อนลูกแรกที่พัดขึ้นฝั่งในภาคใต้ นับตั้งแต่พายุโซนร้อนลินดา เมื่อปี 2540 ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นยังคงติดตามพายุต่อจนออก การวิเคราะห์ครั้งสุดท้ายในเวลา 12.00 UTC (หรือ 19.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย)

ในประเทศเวียดนาม พายุปาบึกทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 1 คน เกิดความเสียหายประมาณ 2.639 หมื่นล้านด่ง (ประมาณ 1.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 36 ล้านบาท) ส่วนในประเทศไทย ซึ่งพายุปาบึกพัดขึ้นฝั่ง มีผู้เสียชีวิตจำนวน 3 ราย และสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 3.2 พันล้านบาท นอกจากนี้ปาบึกยังทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 1 รายในประเทศมาเลเซีย

ทั้งนี้ วันที่ 3 มกราคม ใน จ.นครศรีธรรมราช มีการอพยพประชาชนกว่า 3 หมื่นคนออกจากพื้นที่ริมชายฝั่ง ทั้งยังมีรายงานการอพยพผู้คนในพื้นที่เสี่ยงของจังหวัดต่างๆ เช่น จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชุมพร อำเภอระโนดใน จ.สงขลา เมื่อพายุขึ้นฝั่งที่ อ.ปากพนัง อิทธิพลจากพายุยังทำให้เกิดไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ มีผู้ได้รับ ผลกระทบ 5.8 หมื่นคน ในบางพื้นที่เสาไฟฟ้าและต้นไม้ล้ม และ ยังทำให้เกิดอุทกภัยเป็นบริเวณกว้าง รวมถึงมีบ้านเรือนเสียหายอย่างน้อย 1,500 หลัง

ทั้งนี้ เกี่ยวกับชื่อปาบึก ยังอาจหมายถึง พายุไต้ฝุ่นปาบึก (พ.ศ. 2544) (T0111, 14W) ส่งผลกระทบกับญี่ปุ่น, พายุไต้ฝุ่นปาบึก (พ.ศ.2550) (T0706, 07W, เชเดง/Chedeng) ส่งผลกระทบกับไต้หวันและจีน, พายุโซนร้อนกำลังแรงปาบึก (พ.ศ.2556) (T1320, 19W) พายุที่ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมจัดให้เป็นพายุไต้ฝุ่น และพายุโซนร้อนปาบึก (พ.ศ.2562) (T1901, 36W) พายุลูกแรกของปี 2562

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน