จะเป็นอย่างไรเมื่อคุณไปรับส่งลูกที่โรงเรียนเองไม่ได้ ถ้าให้ขึ้นรถรับส่งของทางโรงเรียน จะปลอดภัยไหม? ขับรถเร็วหรือเปล่า? ไว้ใจ้ได้แค่ไหน? หลายคำถามไม่ใช่กังวลเกินไปแต่เป็นความห่วงใยจากผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอยู่ในสถานศึกษา

และคงจะดีไม่น้อย หากให้คนที่บ้านสามารถส่งบุตรหลานขึ้นรถโรงเรียนแทนได้ พร้อมทั้งแจ้งเตือนเวลาขึ้น-ลงรถ ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ไม่ว่าจะเป็น ข้อความแจ้งเตือนก่อนรถจะถึงบ้าน แจ้งเตือนเมื่อรถถึงบ้าน แจ้งเตือนเมื่อขึ้นรถโรงเรียน แจ้งเตือนเมื่อถึงโรงเรียน รวมถึงติดตามตำแหน่งรถและดูวิดีโอผ่านกล้อง CCTV ได้

ในประเทศไทย ช่วงเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว ก็ได้มีการใช้ระบบควบคุมความปลอดภัย แก้ปัญหาเด็กถูกลืมบนรถโรงเรียนจนเสียชีวิต ลดความเสี่ยง/ป้องกันปัญหาเด็กติดในรถโรงเรียน โดยบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ “เอสซีจี โลจิสติกส์” บริษัทในกลุ่มธุรกิจซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างในเครือเอสซีจี ในฐานะผู้นำการให้บริการด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าอย่างเต็มรูปแบบทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้มีการนำนวัตกรรมมาพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีโลจิสติกส์ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมด้านความปลอดภัยในวงกว้างอย่างยั่งยืน ภายใต้ โครงการ “Smile Kid School Bus (รถโรงเรียนอัจฉริยะเพื่อความปลอดภัย)”

สำหรับ Smile Kid School Bus นั้น พัฒนาต่อยอดมาจากระบบควบคุมความปลอดภัยของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัย Logistics Command Center (LCC) โดยระบบจะช่วยยับยั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ด้วยระบบ GPS Tracking สำหรับติดตามสถานะรถแบบ Real-Time รวมทั้งติดตามดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดผ่านแอปพลิเคชันและกล้อง CCTV ซึ่งควบคุมผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และบุคลากรของเอสซีจี โลจิสติกส์

โครงการดังกล่าว ได้เริ่มนำร่องที่ศูนย์เด็กเล็ก อบต.ห้วยม่วง จ.ขอนแก่น เป็นแห่งแรก โดยเอสซีจี โลจิสติกส์ ได้เข้าช่วยเหลือด้วยการดำเนินการติดตั้งระบบ และอบรมให้ความรู้ในเรื่องการใช้งานระบบและความปลอดภัย ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างดี จนนำไปสู่แผนงานขยายโครงการร่วมกับ “ดร.สมศักดิ์ จังตระกูล” ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ภายใต้แนวคิด Smart City และยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าขยายผลให้ครบ 77 จังหวัด เพื่อผลักดันให้เกิดสังคมแห่งความปลอดภัยอย่างยั่งยืน

ล่าสุด เอสซีจี โลจิสติกส์ ได้จับมือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย ผลักดันโครงการ “Smile Kid School Bus” สู่โรงเรียนทั่วประเทศ พร้อมลงนามความร่วมมือในโครงการฯ เพื่อแก้ปัญหาเด็กติดรถ ยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กไทย และสร้างสังคมความปลอดภัยระยะยาว โดยงานนี้ได้รับเกียรติจาก “การุณ สกุลประดิษฐ์” ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ “บุญธรรม เลิศสุขีเกษม” รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และ “ไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์” กรรมการผู้จัดการ เอสซีจี โลจิสติกส์ ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม สพฐ.1 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ 12 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ได้มี 3 หน่วยงานเข้าร่วมโครงการแล้ว ได้แก่ 1.สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 2.องค์กรท้องถิ่น และ 3.คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เบื้องต้นจะนำร่องโรงเรียนชุดแรก 30 แห่ง ซึ่งชุดนี้เป็นการให้ยืมทดลองใช้รถโรงเรียนอัจฉริยะก่อน ส่วนเรื่องงบประมาณในอนาคตจะเป็นไปตามระเบียบพัสดุต่อไป

“ไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์” กรรมการผู้จัดการ เอสซีจี โลจิสติกส์

“ไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์” เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่า จากความสำเร็จของการนำระบบ GPS Tracking และ AI มาทำแพลทฟอร์มเพื่อติดตามและควบคุมพนักงานขับรถ 7,000 คันทั่วประเทศ ซึ่งสามารถยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและช่วยลดต้นทุนของโลจิสติกส์ จึงมองว่าระบบนี้สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ด้านการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนได้อีกมากมาย โดยเฉพาะรถโรงเรียน หนึ่งพาหนะในการเดินทางที่ยังสร้างความกังวลใจให้กับผู้ปกครองจำนวนมาก ที่ทุกวันนี้ยังมีข่าวสลดใจจากกรณีเด็กเสียชีวิตในรถอยู่เป็นระยะ โครงการ Smile Kid School Bus จึงเกิดขึ้น ควบคู่กับการใช้ความสามารถของบุคลากรของเอสซีจีที่ผ่านการฝึกอบรม และมากประสบการณ์ ที่จะช่วยติดตามสถานะการเดินทางของบุตรหลานบนรถโรงเรียนแบบ Real-Time ด้วยการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน Smile Kid School Bus และกล้อง CCTV ตลอด 24 ชั่วโมง

จากการนำร่องใช้งานกับโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลสุวาวรรณ และโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า และโรงเรียนใน จ.ขอนแก่น ได้แก่ ศูนย์เด็กเล็ก อบต.ห้วยม่วง และโรงเรียนขอนแก่นวิเทศศึกษา เสียงตอบรับผู้ปกครองมั่นใจมากขึ้น นักเรียนรู้สึกสนุกและอยากมาเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ในโครงการยังได้วางรากฐานความปลอดภัย มีการสอนการขับขี่ปลอดภัยโดยโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ รวมถึงมีหลักสูตรฝึกอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ควบคู่กันด้วย

“ชลัช วงศ์สงวน” กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสซีจี สกิลล์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ซ้าย), “ไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์”กรรมการผู้จัดการ เอสซีจี โลจิสติกส์ (ขวา)

ชลัช วงศ์สงวน กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสซีจี สกิลล์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในเอสซีจี อธิบายหลักการทำงานของ Smile Kid School Bus ว่า หลักๆ ใช้ GPS tracking และ QR Code รวมถึงระบบการควบคุมการทำงานตลอด 24 ชั่วโมงโดยทีมงาน LCC โดยนักเรียนทุกคนจะมีบัตรประจำตัวนักเรียนที่แสดงรูปบุคคลพร้อม QR Code เมื่อรถโรงเรียนมารับ ครูประจำรถจะใช้เครื่องอ่านบาร์โค้ดสแกนที่บัตรนักเรียนเพื่อบันทึกเวลารับและแจ้งเตือนให้ผู้ปกครองทราบผ่านแอปพลิเคชันทันที จากนั้นเมื่อรถออกเดินทางผู้ปกครองจะสามารถตรวจสอบตำแหน่งรถ ทะเบียนรถ ประมาณการเวลาที่จะถึงได้ผ่านแอปพลิเคชัน และเมื่อรถถึงโรงเรียนแล้วครูประจำรถจะใช้เครื่องอ่านบาร์โค้ดสแกนที่บัตรนักเรียนอีกครั้งเพื่อเช็คเอาท์ว่านักเรียนออกจากรถแล้วพร้อมแจ้งเตือนให้ผู้ปกครองทราบผ่านแอปพลิเคชัน ทั้งนี้ ทุกครั้งที่สแกนนักเรียนออกจากรถหมด ไม่ว่าจะเป็นการไปรับหรือส่ง ครูประจำรถจะต้องทำการเดินเข้าไปภายในรถ เพื่อสแกนบาร์โค้ดที่ท้ายรถเพื่อเป็นการยืนยันปิดการทำงานในรอบๆ นั้น หากไม่สแกนปิด หรือปิดรถแล้วยังมีเด็กอยู่ในรถ จะลิ้งค์ไปที่ระบบของแตรรถภายใน 10 วินาที พร้อมส่งสัญญาณแตรจนกว่าแบตเตอรี่จะหมด หรือผู้ควบคุมรถกลับมายังรถเพื่อตรวจสอบคนภายในรถอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ถ้ามีเหตุผิดขัดข้องใดๆ เกิดขึ้น จะมีการแจ้งเตือนไปยังแอปพลิเคชัน รวมถึงห้องคอนโทรล LCC ที่สามารถตรวจเช็คได้เลยว่ามีเด็กหลงเหลืออยู่ในรถหรือไม่ผ่านกล้องวงจรปิด

ต่อไปเราจะทำให้กล้องสามารถอ่านใบหน้า ซึ่งเป็นการ Check in – Check out ได้เลย จะทำให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น กรณีเด็กลืมบัตรหรือชำรุด ก็สามารถสแกนใบหน้าได้ ขณะเดียวกันผู้ขับขี่รถ ครูประจำรถ และเด็ก ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัย โดยรถโรงเรียนที่ร่วมโครงการต้องมีการฝึกอบรม ทั้งน้องๆ ที่ต้องขึ้นรถประจำ ให้รู้วิธีปฏิบัติเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน พนักงานขับรถต้องเรียนรู้วิธีการขับรถเชิงป้องกันอุบัติเหตุ และครูประจำรถต้องเรียนรู้วิธีการปฏิบัติกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

ขณะนี้เราอยู่ในช่วงทดลองทำกับทางโรงเรียนที่ร่วมโครงการ ตอนนี้มีรถโรงเรียนที่ร่วมโครงการอยู่ประมาณ 9 คันแล้วที่ทดลองวิ่งจริง และการที่มี MOU ทำให้เราหวังว่าเมื่อได้รับการส่งเสริมสนับสนุน ผู้บริหารโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐ หรือเอกชน หรือโรงเรียนในส่วนบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ที่มีความสนใจก็จะเข้าร่วมโครงการนี้มากขึ้น

ด้าน “สุจารีย์ จำปาทอง” หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านซำภูทอง จ.ขอนแก่น ศูนย์ที่เคยมีเหตุการณ์เด็กติดอยู่ในรถและเสียชีวิต กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์มีผู้ปกครองนำเด็กย้ายออก 16 คน ระยะแรกทางศูนย์แก้ปัญหาโดยการทำบัตรประจำตัวเด็กเพื่อให้สามารถนับจำนวนและสังเกตเด็กได้ แต่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ ภายหลังเอสซีจีติดต่อเข้ามา และให้เข้าร่วม Smile Kid School Bus ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก เด็กที่ย้ายออกไป 16 คน ย้ายกลับมาแล้ว 11 คน ผู้ปกครองก็เริ่มไว้วางใจศูนย์มากขึ้น ด้านการปฏิบัติงานของบุคลากรก็ราบรื่น

รัตนาภรณ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวิเทศศึกษา (ซ้าย), คุณสุจารีย์ จำปาทอง หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านซำภูทอง (ขวา) เจ้าหน้าที่โรงเรียนที่ได้ใช้ระบบ Smile Kid School Bus แล้ว

เช่นเดียวกับ “รัตนาภรณ์ วัฒนศัพท์” ผู้อำนวยการโรงเรียนวิเทศศึกษา จ.ขอนแก่น ที่มองว่า การที่เราจะเป็นสมาร์ทซิตี้ ไม่ใช่คำนึงถึงแต่เรื่องเทคโนโลยี แต่สิ่งที่สำคัญคือความปลอดภัย ซึ่งโรงเรียนวิเทศศึกษาก็ได้เข้าร่วมโครงการนี้ 3 เดือนแล้ว โดยมีรถโรงเรียนที่ติดระบบนี้ 5 คัน เป็นรถตู้ 3 คัน รถบัส 2 คัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 1.ความปลอดภัยของนักเรียน 2.สามารถติดตามความเร็วรถ เด็กขึ้น-ลงรถได้แบบ Real-Time และ3.ผู้ปกครองสามารถติดตามบุตรหลานได้ผ่านแอปพลิเคชัน

เรียกได้ว่า ช่วยลดโอกาสการเกิดปัญหาเด็กถูกลืมไว้ในรถโรงเรียน ลดความกังวลใจของผู้ปกครอง อีกทั้งยังเพิ่มความมั่นใจให้ครูอาจารย์ และโรงเรียน ได้มากขึ้นอีกด้วย

สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์ Logistics Command Center โทร. 025861783-4 หรือ Facebook Fanpage: Smile Kid School Bus และ Line ID: @smilekidschoolbus


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน