คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

ปลากัดมีกี่ชนิดครับ

บางพลี

ตอบ บางพลี

คำตอบนำมาจากที่ รศ.ดร.ยนต์ มุสิก อดีตคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายไว้ว่า ปลากัดที่พบตามแหล่งน้ำธรรมชาติในประเทศไทยมีอยู่ 3 ชนิด แต่มีเพียงชนิดเดียวที่นิยมเลี้ยงกันและแพร่หลายไปทั่วโลก คือปลากัดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens ซึ่งพบทั่วไป

ส่วนปลากัดอีก 2 ชนิดที่นิยมนำมากัดกัน แต่ไม่นิยมนำมาเลี้ยงหรือปรับปรุงพันธุ์ คือปลากัดพื้นเมืองภาคใต้ (Betta imbellis) และปลากัดพื้นเมืองภาคอีสาน (Betta smaragdina) เมื่อพูดถึงปลากัด โดยทั่วไปจึงหมายถึง Betta splendens ซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมที่สามารถสร้างลักษณะสีและครีบได้มากมายแฝงอยู่ จึงทำให้มีการพัฒนาปลากัดสายพันธุ์ที่มีลักษณะใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ และตั้งชื่อปลาที่พัฒนาได้ใหม่นั้นด้วย

1.ปลาป่า หรือ ปลาลูกทุ่ง เป็นปลากัดที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตามท้องนาและหนองบึง เป็นปลาขนาดเล็กที่ไม่มีลักษณะเด่นมากนัก ส่วนมากครีบและหางมีสีแดงเกือบตลอด ประสีดำบ้างเล็กน้อย บางทีอาจมีแต้มสีเขียวอ่อนๆ เรียงต่อกันเป็นเส้นที่ครีบหลัง เวลาถอดสีทั้งตัวและครีบจะเป็นสีน้ำตาลด้านๆ คล้ายใบหญ้าแห้ง ปัจจุบันคำว่า ปลาป่า หมายความรวมถึงปลากัดพื้นเมืองภาคอีสานและปลากัดพื้นเมืองภาคใต้ด้วย

2.ปลาสังกะสี และ ปลาลูกหม้อ เป็นปลากัดที่นักเพาะพันธุ์ปลานำมาคัดสายพันธุ์โดยมุ่งหวังจะได้ปลาที่กัดเก่ง จากบันทึกคำบอกเล่าของหลวงอัมรินทร์สมบัติ (ครอบ สุวรรณนคร) นักเลงปลาเชื่อว่า ปลาสังกะสีและปลาลูกหม้อน่าจะได้รับการพัฒนาขึ้นเมื่อ ประมาณพ.ศ.2430 โดยท่านจำได้ว่า ก่อนหน้านั้นยังต้องจับปลาป่ามากัดพนันกันอยู่ ต่อมานักเลงปลาบางคนเริ่มใช้วิธีไปขุดล้วงเอาปลาป่าที่อาศัยอยู่ตามรูปูในฤดูแล้งมาขังไว้ในโอ่งและเลี้ยงดูให้อาหาร พอถึงฤดูฝนก็นำมากัดพนันกับปลาป่า ซึ่งส่วนใหญ่จะสู้ปลาขุดที่นำมาเลี้ยงไว้ไม่ได้

การเล่นปลาขุดยังนิยมเล่นกันมาถึงประมาณพ.ศ.2496 หลังจากนั้นก็มีการเก็บปลาที่กัดเก่งเลี้ยงไว้ข้ามปี และหาปลาป่าตัวเมียมาผสม ลูกปลาที่ได้จากการผสมในชุดแรกเรียกว่า ปลาสังกะสี ปลาสังกะสีที่เก่ง อดทน สวยงาม จะถูกคัดไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ เมื่อผสมออกมาในชุดต่อไปจะได้ปลาที่เรียกว่า ปลาลูกหม้อ

ที่เรียกว่า ปลาสังกะสี สันนิษฐานว่าน่าจะได้ชื่อมาจากผิวหนังที่หนาแกร่งไม่ขาดง่ายเมื่อถูกกัดเหมือนปลาป่า ปลาสังกะสีมักจะตัวใหญ่ สีสันลักษณะต่างจากปลาป่า แต่ชั้นเชิงและความอดทนสู้ปลาลูกหม้อไม่ได้ ส่วนที่เรียกว่า ปลาลูกหม้อ น่าจะมาจากการนำหม้อดินมาใช้ในการเพาะและอนุบาลปลาในระยะแรกๆ เป็นปลาสายพันธุ์ที่สร้างมาโดยนักเลงปลาทั้งหลาย เพื่อให้ได้ลักษณะที่ดีสำหรับการต่อสู้ และมีสีสันที่สวยงามตามความพอใจของเจ้าของ

3.ปลากัดจีน เป็นชื่อที่ใช้เรียกปลากัดครีบยาวมาช้านาน ลักษณะครีบที่ยาวรุ่ยร่าย สีฉูดฉาดเหมือนงิ้วจีน พัฒนาสายพันธุ์มาจากปลาลูกหม้อ โดยผสมคัดพันธุ์ให้ได้ลักษณะที่มีครีบและหางยาวขึ้น ความยาวของครีบหางส่วนใหญ่จะยาวเท่ากับหรือมากกว่าความยาวของลำตัวและหัวรวมกัน

4.ปลากัดหางสามเหลี่ยม หรือ ปลากัดเดลตา พัฒนาสายพันธุ์มาจากปลากัดจีน โดยพัฒนาให้หางสั้นเข้าและแผ่กว้างออกไปเป็นรูปสามเหลี่ยม ขอบครีบหางกางทำมุม 45-60 องศากับโคนหาง และต่อมาได้พัฒนาให้ครีบแผ่ออกไปกว้างมากยิ่งขึ้น เรียก ซูเปอร์เดลตา ซึ่งมีหางแผ่กางใหญ่กว่าปกติจนขอบครีบหางด้านบนและล่างเกือบเป็นเส้นตรง

5.ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีก หรือปลากัดฮาล์ฟมูนเดลตา ลักษณะสำคัญคือ ครีบหางแผ่เป็นรูปครึ่งวงกลม โดยขอบครีบด้านหน้าจะแผ่เป็นแนวเส้นตรงเดียวกันเป็นมุม 180 องศา ครีบด้านนอกเป็นขอบเส้นโค้งของครึ่งวงกลม ก้านครีบหางแตกแขนง 2 ครั้ง เป็น 4 แขนง หรือมากกว่า

6.ปลากัดหางมงกุฎ หรือ ปลากัดคราวน์เทล ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นในพ.ศ.2543 โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวสิงคโปร์ มีหางจักเป็นหนามเหมือนมงกุฎ ลักษณะสำคัญคือ ก้านครีบจะโผล่ยาวออกไปจากปลายหาง ลักษณะดูเหมือนหนาม ปลากัดหางมงกุฎที่สมบูรณ์จะมีครีบหางแผ่เต็มซ้อนทับได้แนวกับครีบอื่นๆ และส่วนของหนามมีการจัดเรียงในรูปแบบที่สวยงามสม่ำเสมอ

7.ยังมีปลากัดประเภทอื่นๆ เช่น ปลากัดเขมร เรียกปลากัดที่ ลำตัวสีอ่อนหรือเผือก ครีบสีแดง, ปลากัดหางคู่ ซึ่งครีบหางมีลักษณะเป็น 2 แฉก และที่เรียกชื่อตามรูปแบบสี เช่น ปลากัดลายหินอ่อน ปลากัดลายผีเสื้อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน